รู้จัก Foresight (ฟอร์ไซท์) อีกเครื่องมือสำคัญ เปิดประตูมองอนาคตดิจิทัลไทยอีก 10 ปีแบบรอบด้าน!

Spread the love

ชั่วโมงนี้ ความท้าทายสำคัญที่หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในสภาวะที่โลกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โลกที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด และโลกที่อนาคตเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา คือ การหา  เครื่องมือ  ที่จะเข้ามาช่วยในการสร้างความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ก่อนใคร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ Foresight (ฟอร์ไซท์) หรือ การมองภาพอนาคต จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฉายภาพอนาคต ทำให้ได้เห็นสัญญาณ แนวโน้ม และปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงที่ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่เทคโนโลยี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับหน่วยงานรัฐ เอกชน ใช้วางแผนยุทธศาสตร์และนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หน่วยงานที่มุ่งขับเคลื่อนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยทัดเทียมสากล จึงร่วมกับพาร์ทเนอร์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab จัดทำ Digital Foresight Research ทิศทางอนาคตดิจิทัลของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อคาดการณ์อนาคตในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Transaction)

 

พร้อมจัดตั้ง Foresight Center by ETDA เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล Foresight ด้านดิจิทัลของประเทศไทย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในภาควิชาการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยเสริมให้ประเทศไทยสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และนำประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

ก่อนอื่น ต้องทำความรู้จักก่อนว่า กระบวนการสำคัญของ Foresight มีอะไรบ้าง
กระบวนการสำคัญของ Foresight ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

 

ขั้นที่ 1 – มองย้อนอดีต เร่งสปีดก้าวไปข้างหน้า (Look Back to Look Forward) การมองย้อนอดีตเพื่อดูเส้นทางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม เทคโนโลยี ทั้งไทยและต่างประเทศ

 

ขั้นที่ 2 – เฝ้าติดตามและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง (Horizon Scanning) การกวาดสัญญาณ (Signal) การเปลี่ยนแปลงเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน สม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำเพียง 5 ปีแล้วเสร็จสิ้น ดังนั้นจึงต้องหมั่นเฝ้าติดตามและวิเคราะห์ดูว่ามีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่สำคัญเกิดขึ้นหรือไม่

 

ยกตัวอย่าง ปี ค.ศ. 2016 ในวันที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับ ฮิลลารี คลินตัน ได้มีการใช้โซเชียลมีเดียมาชักจูงการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งวันนั้นนับเป็นวันที่จับสัญญาณของโซเชียลมีเดียได้ว่า การใช้โซเชียลมีเดียกับเรื่องทางการเมืองไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือที่มีพลังสามารถเปลี่ยนขั้วการเมืองของโลกได้ทีเดียว

 

และจากวันนั้นสู่วันนี้ การใช้โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนเปลี่ยนพลังสังคมอื่นๆ อีกมากมายตามมา ดังนั้น แม้ว่าสัญญาณ (Signal) ที่เกิดขึ้นอาจยังไม่แพร่หลาย แต่ผู้ทำหน้าที่ Foresight Researcher จะต้องจับสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้ แล้วมาวิเคราะห์ว่าสัญญาณนั้นจะกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนเปลี่ยนสังคมอย่างไร

ขั้นที่ 3 – สร้างความเชื่อมโยง (Web of Impact) เมื่อการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นเส้นตรงเสมอไป การทำ Foresight จึงต้องประยุกต์ใช้ศาสตร์และความเชี่ยวชาญหลายอย่าง ทั้งองค์ความรู้ด้านธุรกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม จิตวิทยา จนถึงสุขภาพ

 

ดังนั้น การมองอนาคตหรือ Foresight ซึ่งครอบคลุมไปถึง ค่านิยม ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อของผู้คนที่จะเปลี่ยนแปลงในอีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้า จึงไม่ต้องการคนเพียงกลุ่มเดียวที่มีแนวคิดแบบมาเดียว แต่ต้องรวบรวมและครอบคลุมคนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด เพื่อให้การสร้างความเชื่อมโยงเป็นไปอย่างหลากหลายมากขึ้น และสะท้อนถึงโอกาสที่อาจเกิดขึ้นที่แตกต่างกันไป

ขั้นที่ 4 – สร้างฉากทัศน์ (Scenario) ขั้นตอนนี้เป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากการมองภาพอนาคตทำได้ในระยะเวลาจำกัดแล้วจบไม่ได้ แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การตั้งศูนย์ Foresight Center by ETDA จึงเป็น Working Scenario ที่จะสะท้อนภาพเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ที่แม้อาจไม่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลโดยตรง แต่ก็ย่อมมีผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เมื่อได้ภาพอนาคต ทั้งแบบอนาคตที่ดีและอนาคตที่เลวร้ายที่คาดการณ์มาแล้ว นักกลยุทธ์ นักยุทธศาสตร์ ก็สามารถนำภาพฉากทัศน์ Scenario เหล่านั้น ไปแปลงเป็นแผน กลยุทธ์หรือออกแบบแนวทางการดำเนินงานของตนได้ กระบวนการ Foresight นี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งการจัดทำแผนระดับองค์กร ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนได้ ตลอดจนการวางยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศต่อไป

ทั้งนี้ หากถามว่าทำไม ETDA ถึงทำ Foresight เกี่ยวกับธุรกรรมทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Transaction) นั้น ถ้าพิจารณาคำว่า Transaction ที่เปรียบเสมือนเลือดหล่อเลี้ยง Digital Ecosystem เนื่องจากว่า สถานการณ์ประเทศไทยปัจจุบัน ในเรื่องของ e-Payment ไทยอยู่อันดับที่ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดียที่มีประชากรมากถึงพันล้านคนเท่านั้น ซึ่งการชำระเงินเรียลไทม์ของไทยนี้ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 2.08 ของ GDP และทุกวันนี้ทุกคนล้วนใช้พร้อมเพย์โอนเงิน ทำให้เกิดมูลค่าการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างมโหฬาร

 

แสดงให้เห็นว่าการใช้โซเชียลมีเดียของประชาชนในประเทศไทยไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป นอกจากนี้ จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2564 ของ ETDA พบว่า มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยถึงวันละ 10 ชั่วโมง 36 นาที และ Gen Z มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงสุดถึงวันละ 12 ชั่วโมง และใช้อินเทอร์เน็ตในการทำกิจกรรมออนไลน์หลายอย่าง สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทยในโลกออนไลน์มากขึ้น

 

อีกหนึ่งบทบาทของ ETDA คือหน่วยงานฝ่ายเลขานุการให้กับคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติที่ดูแลเกี่ยวกับนโยบายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ จึงได้ใช้เครื่องมือ Foresight เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566-2570

 

ซึ่งในกระบวนการของการทำงานจะคาดการณ์ไปยังอนาคตประมาณ 10-20 ปี แล้วทำการสร้างภาพอนาคตที่อยากจะเป็น และทำการย้อนกลับ (Backcasting) จากคาดการณ์อนาคตว่าในแต่ละช่วงเวลาจะเกิดภาพหรือเหตุการณ์อะไร เพื่อให้การวางยุทธศาสตร์ การออกแบบกลยุทธ์เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา โดยการวางแผนยุทธศาสตร์ด้วยการใช้เครื่องมือ Foresight นี้ จำต้องกวาดหาสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลง รวบรวมข้อมูล ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการออกแบบอนาคตนั้นๆ ด้วย

 

การมองภาพอนาคตในมุมของ AI หนึ่งในอนาคตที่น่าจับตามอง ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทสำคัญกับชีวิตประจำวันของผู้คนแล้ว และจะยิ่งทวีคูณเพิ่มขึ้น ในอนาคตเราจะได้เห็นการนำ AI มาใช้ทำงานแทนมนุษย์ในลักษณะงานที่อยู่ในพื้นที่อันตราย หรืองานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ข้อมูลจากประสบการณ์อดีตจะทำให้ AI ลดโอกาสการเกิดข้อผิดพลาดมากขึ้นด้วย

 

อย่างไรก็ตามในขั้นตอนสุดท้ายของการทำงานยังคงต้องใช้มนุษย์หรือผู้ควบคุมเป็นหลักในการตัดสินใจ ทั้งนี้ การใช้งาน AI ในอนาคต จะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการทำงานในหน่วยงานหรือองค์กรเท่านั้น แต่จะขยายกว้างไปทุกสาขา รวมถึงระดับปัจเจกบุคคล

 

โดย AI จะกลายเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ใช้ตรวจจับวัตถุ สแกนสินค้าเพื่อชำระเงินในร้าน ใช้ตรวจร่างกายของผู้ป่วย และอาจพัฒนา AI ให้มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงความเป็นมนุษย์มากที่สุด จนเกิดเป็นชุมชน AI ขึ้นมา ซึ่งนำมาสู่ความท้าทายในการกำหนดกฎระเบียบและบทลงโทษของ AI รวมถึงแนวปฏิบัติของมนุษย์ต่อ AI

 

อีกทั้งการเติบโตของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยจน AI ก้าวข้ามขีดจำกัดจนสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้แทบทุกด้าน ก็เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์เช่นกัน เพราะมนุษย์จะกลายเป็นผู้บริโภคและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ AI กลายเป็นผู้สร้างผลผลิต ทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้น้อยลง

 

ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องตื่นรู้ ตื่นตัวในการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ อยู่เสมอและใช้งานอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน

เพื่อเตรียมพร้อมรับมือโลกอนาคต จึงยิ่งตอกย้ำที่มาของการจัดตั้ง Foresight Center by ETDA แหล่งข้อมูลอนาคตของการทำธุรกรรมออนไลน์ของประเทศ ซึ่งในปีนี้ได้ศึกษาและมองภาพอนาคต 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

 

1. อนาคตธุรกรรมดิจิทัล (Future of Digital Transaction) ที่จะไม่มีข้อจำกัดเรื่องสื่อกลาง การทำธุรกรรมทางดิจิทัลที่อิสระมากขึ้น 2. อนาคตปัญญาประดิษฐ์ (Future of Artificial Intelligence) ที่ออกแบบและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น (Customized AI)

 

3. อนาคตการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Future of Digital Identity) ทำให้ทุกคนก้าวสู่โลกดิจิทัล มีตัวตนบนโลกเสมือน ที่เชื่อมโยงตัวตนบนโลกแห่งความเป็นจริง และ 4. อนาคตอินเทอร์เน็ต (Future of Internet) ที่จะมาส่งเสริม Digital Ecosystem ในประเทศไทย และเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐจัดสรรให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้ใช้อย่างมีคุณภาพ

 

โดยทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าวนี้ ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ได้ทีเดียว

 

สำหรับต่างประเทศกับการใช้เครื่องมือ Foresight มีหลายประเทศทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ อาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น ได้ใช้ Foresight ในการกำหนดยุทธศาสตร์รองรับการพัฒนาอนาคตของแต่ละประเทศเช่นเดียวกัน

 

และประเทศไทยวันนี้ ทาง ETDA ในฐานะผู้เล่นใหม่ในวงการ Foresight ได้รวมพลังกับเครือข่ายพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมขับเคลื่อนการทำ Foresight หรือการฉายภาพอนาคตดิจิทัลของประเทศไทยอย่างเข้มข้น ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและกระแสโลกได้มากขึ้น เพราะ ETDA จะเดินหน้าไปคนเดียวหรือหน่วยงานเดียวไม่ได้ ทุกคนจึงต้องประสานความร่วมมือเพื่อนำประเทศก้าวต่อไปสู่โลกอนาคตเพื่อชีวิตดิจิทัลที่ดีกว่า

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของ Foresight Research หรือข่าวสารน่าสนใจของ ETDA จำนวนมาก ได้ที่เว็บไซต์ www.etda.or.th เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand (https://www.facebook.com/ETDA.Thailand) รวมทั้งโซเชียลมีเดีย ETDA Thailand ทุกช่องทาง

#ETDAThailand #เอ็ตด้า #Foresight #ForesightCenterbyETDA #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล

Scroll to Top