SCB WEALTH ปีนี้เน้นลงทุนตราสารหนี้ ตปท.- Structured note-หุ้นจีนไทยอินโด และ ESG

Spread the love

 

แม้ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ภาพรวมตลาดการลงทุนเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ SCB WEALTH สามารถรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ โดยคัดสรรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับภาวะตลาดได้อย่างทันท่วงที เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

 

ส่งผลให้ได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้หลายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่ง ทั้ง KIKO, หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงดอกเบี้ย THOR และประกันชีวิตประเภท Unit-linked ผ่านช่องทางธนาคาร ด้าน Private Asset มียอดขายรวมเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น 153% ด้วยศักยภาพทีม RM ที่มีประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญ และเข้าใจผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี

 

ปีนี้ SCB CIO แนะลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศระดับ Investment grade พร้อมจับตาตลาดหุ้นเอเชีย หาจังหวะลงทุนหุ้นจีนที่ได้รับแรงหนุนจากการเปิดเมือง หุ้นไทยที่ได้รับผลบวกเศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว แรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืน การใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้ง และหุ้นอินโดนีเซีย ที่ได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในประเทศ

 

โดยเฉพาะช่วงก่อนเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นต้นปี 2567 และ เร่งพัฒนานำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อดูแลพอร์ตลูกค้าให้มีสินทรัพย์ลงทุนที่หลากหลาย เช่น Structured note มีการป้องกันความเสี่ยงตลาดขาลง เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี ขณะที่ความเสี่ยงโดยรวมลดลง และลงทุนหุ้นกลุ่ม Thematic ประเภท ESG ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านESG ของธนาคาร และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ดูแลใส่ใจโลกมากขึ้น

 

ส่วน InnovestX มองหุ้นปีนี้แตะ 1,750 จุด รับอานิสงส์ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัว แนะกลยุทธ์ลงทุนแบ่งพอร์ตหุ้น 2 พอร์ต โดยพอร์ตที่ 1 สัดส่วน 70% ลงทุนหุ้นพื้นฐานดี ได้ประโยชน์จากเปิดประเทศของจีน พอร์ตที่ 2 สัดส่วน 30% ลงหุ้นเก็งกำไร ที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะกลับมาในปี 2566

 

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงาน SCB WEALTH Holistic Experts หัวข้อ “2023 Investment Strategy Framing a Future After a Perfect Storm” ว่า

 

ในปี 2565 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ตลาดการลงทุนโลกและไทยมีปัจจัยที่ท้าทายและมีความผันผวนสูง ทำให้ภาพรวมธุรกิจ Wealth ในไทยล้วนได้รับผลกระทบ โดยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของธุรกิจบริษัทจัดการกองทุนรวม (Investment AUM) โดยรวมลดลงกว่า 10 %

 

อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ภายใต้การบริหารของ SCB Wealth ลดลงในอัตราที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ด้วยการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยการเฟ้นหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ในทุกช่วงเวลาสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสและสร้างผลตอบแทนที่ดี เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้าได้

ประกอบกับศักยภาพของ RM ที่สามารถเข้าใจโปรดักส์ที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของ SCB Wealth ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เช่น ตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับหุ้นสามัญ (KIKO) ซึ่งยังคงครองอันดับ 1 ในตลาดและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 โตเพิ่ม 54% หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงดอกเบี้ย (THOR) ครองอันดับ 1 ในตลาด) และ Private Asset ที่มียอดรวมเพิ่มขึ้น 153% จากปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนั้น เรายังคงให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนและบริการในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า เช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุน Lombard และ Property-backed Loan หรือผลิตภัณฑ์ประกันควบการลงทุน Regular Unit-linked ที่ SCB ยังคงครองอันดับ 1 ในตลาด Banca Business (38% market share)

 

ทำให้เรามีกระแสรายได้ของธุรกิจจากหลากหลายช่องทาง ผลักดันให้ Wealth Business เป็น Growth Engine และยังคงเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ต่อไป

 

สำหรับกลยุทธ์ในปี 2566 ภายใต้บรรยากาศการลงทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้นและพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เรายังคงมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าและให้คำแนะนำในการบริหารพอร์ตอย่างสม่ำเสมอตามสภาวะและจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างพอร์ตให้มีคุณภาพและผลตอบแทนที่ยั่งยืน

 

ด้วยความพร้อมของทีม SCB WEALTH Advisory ทั้งด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ติดตามดูแล และให้คำแนะนำอย่างเป็นระบบ ยิ่งไปกว่านั้น เรามุ่งมั่นที่จะสร้างความแตกต่างด้วยการยกระดับการให้บริการและคำปรึกษาผ่านช่องทาง Digital Wealth เพื่อให้บริการที่รู้จัก รู้ใจ ลูกค้ามากยิ่งขึ้น (Hyper-personalization) และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ (Omni-channel)

 

ในขณะเดียวกัน เราตั้งมั่นในการต่อยอดความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้าของธนาคาร ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบ open architecture ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร

 

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้โลกของการลงทุนเริ่มสดใสมากขึ้น มีปัจจัยบวกจากการเปิดเมืองของจีน ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงมีอยู่ เช่น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และอาจได้เห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ เช่น ยุโรป แต่จะไม่รุนแรง

 

ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะยังปรับขึ้นต่ออีกเล็กน้อย เนื่องจากเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงมาแล้ว แต่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนในช่วงครึ่งปีแรก ในช่วงเวลานี้ แนะนำให้ทยอยลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เพราะโอกาสที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้จะปรับเพิ่มขึ้นในระดับสูง มีค่อนข้างจำกัด

 

สอดคล้องกับที่คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มองว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ แนะนำให้เพิ่มอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ โดยทยอยเพิ่ม Duration ในพอร์ตการลงทุน และเน้นเลือกหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) ทั้งของไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้และจ่ายดอกเบี้ยได้ แม้ในช่วงเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว

 

อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงกลุ่มตราสารหนี้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (High Yield) โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ที่มีความเสี่ยงปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศที่อาจเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ เช่น จีน รวมถึงความเสี่ยง Refinancing ในหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด

 

ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่ดีในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่น่าสนใจในราคาไม่แพง โดยตลาดหุ้นเอเชีย เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และยังเป็นตลาดที่มีแรงหนุนจากการเปิดเมืองของจีน โดยเฉพาะ ตลาดหุ้นจีน A-Share

 

เนื่องจากดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเร่งผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่มูลค่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อ แม้ว่าการเปิดเมืองอาจทำให้เกิดการระบาดเร่งตัวได้ในระยะใกล้ก็ตาม

 

ด้านตลาดหุ้นจีน H-Shareได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองของจีนเช่นกัน ขณะที่ความเสี่ยงที่หุ้นจีน ADR จะถูก Delist ลดลงมาก แม้ว่าตลาดยังเผชิญปัจจัยกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ตาม ส่วนตลาดหุ้นไทย ได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว มีแรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืน และการใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้ง

 

โดยเน้นหุ้นกลุ่มพาณิชย์ ขนส่ง และสาธารณูปโภค และตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ที่มีแรงหนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่เติบโต โดยเฉพาะช่วง 1 ปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งต้นปี 2567 สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนในปีนี้ จะยังคงมุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น ในทุกภาวการณ์ลงทุนในแต่ละช่วงเวลา

 

เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง หรือ Structured Note ซึ่งมีการป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลงเอาไว้ (Downside Protection) และผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภท Thematic ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตอกย้ำฐานะของธนาคารในการเป็นผู้นำด้าน ESG และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจดูแลโลกมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับการดูแลพอร์ตลงทุนของลูกค้าให้มีสินทรัพย์ลงทุนหลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้มั่งคั่งอย่างยั่งยืน ขณะที่ความเสี่ยงโดยรวมลดลง และเน้นย้ำให้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในกรณีที่ไปลงทุนในต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการเสริมสภาพคล่องการลงทุนให้กับลูกค้า ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อการลงทุน ที่ใช้สินทรัพย์ทางการเงินเป็นหลักประกัน (Lombard Loan) หรือ อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน (Property-Backed Loan) และในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะมีบริการดิจิทัลที่มาช่วยให้ลูกค้าลงทุนได้สะดวก สบาย และตรงใจมากขึ้น

 

เช่น บริการเตือนอัจฉริยะเมื่อตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือหลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้ครบกำหนดไถ่ถอน รวมทั้งตัวช่วยที่จะประเมินความเสี่ยงและความต้องการลงทุนของลูกค้าลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น

 

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) เปิดเผยว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2566 ในไตรมาสที่ 1 ความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินตึงตัวแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังคงไม่จบ ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานชะลอตัวกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนการเปิดประเทศของจีนเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวได้บ้าง

 

ในไตรมาส 2 เราคาดว่าจะเห็นสัญญาณของเศรษฐกิจและกำไรผ่านจุดต่ำสุด รวมถึงความเสี่ยงของการส่งผ่านผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ราคาพลังงานของสหภาพยุโรป เหตุการณ์สำคัญในไตรมาส 2 ปี 2566 ที่อาจกระตุ้นให้ตลาดถึงจุดต่ำสุด

 

ได้แก่ 1. นโยบายการเงินที่เริ่มลดระดับการตึงตัว 2. Real yield กลับมาเป็นบวก ซึ่งหมายความว่าดอลล่าร์จะอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาด Emerging Market โดยจุดเข้าซื้อที่สำคัญอยู่ระหว่าง 1,550 -1,600 จุด เราคิดว่าตลาดหุ้นน่าจะยังมี downside อีกมากหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มรูปแบบในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

 

ส่วนในไตรมาส 3 ตลาดหุ้นไทยรับประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตได้ดีกว่าสหรัฐ ยุโรป รวมถึงได้รับประโยชน์จากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย และไตรมาส 4 ผลตอบแทนของตลาดดูเหมือนจะมีจำกัด เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของปี 2024 กลับมาสู่ภาวะปกติ valuation คาดว่าจะดึงตัวหลังจาก Rally อย่างแข็งแกร่ง

 

โดยคาดการณ์ดัชนีอยู่ที่ 1,750 จุด อย่างไรก็ตาม หุ้นไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากตลาดหุ้นจีนฟื้นตัว นักเศรษฐศาสตร์ของ InnovestX ประเมินว่า ข้อจำกัดเกี่ยวกับ COVID ส่งผลทำให้ GDP Output ของจีนปรับลดลงราว 4-5% จากระดับ Trend ทำให้ GDP ขยายตัวราว 5% เราคิดว่าตลาดจะตอบรับเชิงบวกต่อการผ่อนคลายนโยบายของจีน

 

เนื่องจากจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของ Traffic และรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทย และจะช่วยกระตุ้นให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าสุทธิ หากตลาดหุ้นจีนฟื้นตัว ตลาดหุ้นไทยจะได้รับประโยชน์จาก Rally และส่งผลดีต่อ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ ขนส่ง อาหารและเครื่องดื่ม และท่องเที่ยว เนื่องจากเศรษฐกิจในปี 2566 จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

 

เรามองว่า กำไรของกลุ่มพาณิชย์ จะเติบโต yoy ต่อเนื่องในปี 2566 ได้รับแรงสนับสนุนจากยอดขายปลีกที่ดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับการขยายสาขา และมาร์จิ้นที่ดีขึ้น รายได้ค่าเช่ามีแนวโน้มฟื้นตัวเนื่องจากการให้ส่วนลดค่าเช่าลดลง และอัตราการเช่าพื้นที่ที่ปรับตัวดีขึ้น

 

และเราคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยที่ 25 ล้านคน ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มท่องเที่ยวฟื้นตัว ความต้องการใช้บริการจัดอีเว้นท์ เช่น สัมมนา และงานเลี้ยง จะปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การบริการด้าน Healthcare ที่ไม่เกี่ยวกับโควิดจะเติบโตเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของบริการผู้ช่วยต่างชาติจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้กำไรของกลุ่มการแพทย์เติบโตในปี 2566

 

มาร์จิ้นของกลุ่มการแพทย์แข็งแกร่ง เนื่องจากมีอำนาจกำหนดราคาสูง เราคาดว่าจะเห็นพัฒนาการเพิ่มมากขึ้นในธุรกิจใหม่ เช่น บริการสุขภาพดิจิทัล และบริการ Wellness ในปี 2566 กลุ่ม Bank เราคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะเติบโต 13% ในปี 2566 โดยได้รับสนับสนุนจากการ คาดาการณ์ว่าสินเชื่อจะเติบโต 6% Net Interest Margin (NIM ) จะขยายตัว 6 bps ส่วน Non-Nll จะอยู่ในระดับทรงตัว และ Credit Cost จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 7 bps

 

นายสุกิจ กล่าวว่า หุ้นไทยเน้นการฟื้นตัวจากปัจจัยภายในและการท่องเที่ยว แม้ว่าปัจจัยภายนอกค่อนข้างท้าทายแต่เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การเปิดประเทศของจีนที่จะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากปี 2565 การบริโภคภายในประเทศยังแข็งแกร่ง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการส่งออกที่ชะลอตัว

 

บริษัทจดทะเบียนไทยมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง นโยบายการเงินก็เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปทำให้ตลาดไม่ผันผวน สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 ได้แก่ 1. นักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตโดดเด่น ภาคบริการฟื้นตัว 2. ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3. ผลกระทบจากนโยบายการเงินค่อนข้างจำกัด 4. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 และ 5. การเติบโตมีแนวโน้มชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ ด้วยสภาพตลาดหุ้นที่ยังคงมีความผันผวน จึงแนะนำแบ่งหุ้นเป็น 2 พอร์ต สัดส่วน 70:30 โดยพอร์ตที่ 1 (70%) เน้นหุ้นพื้นฐานดีที่ได้ประโยชน์จากเปิดเมืองของจีนและเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว 2. มีอัตราการเติบโตดีต่อเนื่อง 3. มีความเป็นหุ้นเชิงรับ

 

ส่วนพอร์ตที่ 2 (30%) เป็นหุ้นเก็งกำไร ที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะ Turnaround ได้ในปี 2023 โดยเป็นบริษัทที่ความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงินต่ำ โดยหุ้นแนะนำ ในพอร์ตที่ 1 ได้แก่ AOT, BBL, BDMS, CPALL, CRC, GPSC และ SCGP ส่วนในพอร์ตที่ 2 ได้แก่ AU, HANA และ SECURE

 

ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning & Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 ในด้านกฎหมายภาษีอากรที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ มีอยู่สองประเด็นหลัก และอีกหนึ่งสิทธิ์ลดหย่อนภาษี ประกอบด้วย

 

1.ภาษีขายหุ้นที่เป็นการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีที่ขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่ากฎหมายจะมีผลให้เริ่มเสียภาษีตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. 2566 ในอัตรา 0.055% ของมูลค่าขายหลักทรัพย์ฯ แต่ต้นปี 2567 จะเก็บเต็มจำนวนที่ 0.11% ของมูลค่าขาย ภาษีขายหุ้นนี้มีแนวคิดมานานแต่มีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2535

 

สรุปคือ ซื้อไม่มีภาษี แต่ขายมีภาษีไม่ว่าจะขายกำไรหรือขายขาดทุน ทำให้นักลงทุนมองว่ามีต้นทุนค่าขายเพิ่มขึ้น เช่น หากซื้อหุ้นมีค่าธรรมเนียมซื้อประมาณ 0.157% (ค่าธรรมเนียม cash balance แบบ online) แต่เวลาขายแทนที่จะเหมือนกับการซื้อคือ 0.157% พอมีภาระภาษีทำให้ต้นทุนตอนขายในปี 2566 จะจ่ายเพิ่มเป็น 0.212% (0.157% + 0.055%)

 

ผลกระทบนี้จะมีผลต่อนักลงทุนต่างกันแล้วแต่วัตถุประสงค์การลงทุนและระยะเวลาการถือครองหุ้น แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนไม่ต้องกังวลคือกฎหมายให้ Broker เป็นผู้ชำระภาษีและจัดการแทนนักลงทุน ทำให้ลดภาระความยุ่งยากของนักลงทุนไปได้

 

2. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2566 กฎหมายมีเรื่องอัปเดตสองเรื่อง คือการเลื่อนระยะเวลาการเสียภาษีของผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมกำหนดไว้ในเดือนเมษายน 2566 เลื่อนเป็นเดือนมิถุนายน 2566 และรัฐบาลลดภาษีให้ในอัตรา 15% ของภาระภาษีที่คำนวณได้

 

3. สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการและได้ใบกำกับภาษีระหว่าง 1 มกราคม 2566 – 15 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถนำมาหักเงินได้เสียภาษีได้ 40,000 บาท โดยแบ่งเป็นส่วนแรก 30,000 เป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ หรือใบรับ โดยใช้ได้ทั้งแบบกระดาษ / e-Tax Invoice / e-Receipt

 

ส่วนที่ 2 อีกจำนวน 10,000 บาท ต้องมีใบกำกับภาษี หรือใบรับ โดยใช้ได้เฉพาะ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้ร้านค้าอยากเข้ามาร่วมในระบบจัดทำใบกำกับแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จึงมองว่ามาตรการนี้เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ในระบบภาษีของประชาชนอย่างมากทีเดียว

Scroll to Top