กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัด ประชุมสัมมนา “โครงการจัดทำบัญชีข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” ซึ่งเป็นกิจกรรมสัมมนาที่จัดขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
การประชุมฯ Government Data Catalog มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของบัญชีข้อมูลภาครัฐ พร้อมการบรรยายรายละเอียดฟีเจอร์ใหม่และประสิทธิภาพของ Government Data Catalog ที่ได้รับการพัฒนาให้ชาญฉลาดยิ่งขึ้น เรียกว่า Smart Plus รวมถึงมอบโล่รางวัลให้กับหน่วยงานและจังหวัดที่มีผลงานโดดเด่นในการขับเคลื่อนบัญชีข้อมูลภาครัฐ ประจำปี 2566
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในการบูรณาการข้อมูลข้ามหน่วยงาน การพัฒนาและบริหารจัดการบัญชีข้อมูลภาครัฐจึงเกิดขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐให้มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย เพื่อเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างแท้จริง
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบัญชีข้อมูลภาครัฐ และระบบนามานุกรม
ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ 31 หน่วยงาน และ 3 จังหวัด ต่อมาได้ขยายผลกับหน่วยงานและจังหวัดทั่วประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐ 268 หน่วยงาน และ 76 จังหวัด ต้องมีระบบบัญชีข้อมูลหน่วยงานให้ครบถ้วนภายในปี 2568
ปรากฏว่าขณะนี้มีหน่วยงานติดตั้งและใช้งานระบบแล้วถึง 200 หน่วยงานและ 76 จังหวัด มีชุดข้อมูลกว่า 18,000 ชุดข้อมูล กระจายอยู่แต่ละระบบบัญชีข้อมูลหน่วยงาน และได้มีการนำมาลงทะเบียนที่ระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐแล้ว 8,400 ชุดข้อมูล ถือเป็นผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้
“ด้วยระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับปริมาณชุดข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้เพิ่มประสิทธิภาพระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐให้มีความชาญฉลาดมากขึ้น เพื่อลดภาระให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ และเพิ่มความสามารถในการทำงานของระบบแบบไร้รอยต่อ นำไปสู่เป้าหมายการเป็น Smart and Open Government”
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าวระหว่างแสดงปาฐกถาหัวข้อ “GD Catalog สู่การขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐให้มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย” ว่า ประเทศในระดับนานาชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐ หรือ Government Data Catalog เป็นอย่างยิ่ง
การพัฒนา GD Catalog ของประเทศไทยนั้น เริ่มต้นเมื่อปี 2563 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกแบบ GD Catalog Platform โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงเข้าด้วยกันของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ (End-To-End Process)
GD Catalog เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนสู่เป้าหมายของการเป็นภาครัฐที่มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย ผ่านการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบโดยใช้ระบบบัญชีข้อมูลเป็นเครื่องมือเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงานขององค์กรสู่ระบบดิจิทัล ยกระดับสมรรถนะหน่วยงานด้วยศักยภาพด้านข้อมูลที่มีธรรมาภิบาล บูรณาการและแบ่งปันการใช้ประโยชน์ระหว่างหน่วยงาน
รวมถึงการให้บริการข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลที่มีคุณค่าอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อการวิเคราะห์ วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างนวัตกรรมต่างๆ
อีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลท์ ได้แก่ การบรรยายหัวข้อ “ความสามารถ 10 Features เพิ่มประสิทธิภาพ GD Catalog Smart Plus” โดยนายทรงพล ใหม่สาลี ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และหัวข้อ “ทิศทางการเพิ่มประสิทธิภาพ CKAN Open-D เพื่อสนับสนุน GD Catalog Smart Plus” โดย ดร.มารุต บูรณรัช ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ จาก NECTEC
ขณะที่กิจกรรมในช่วงบ่ายได้รับเกียรติจากผู้แทนจากหน่วยงานและจังหวัดที่มีผลงานโดดเด่นในการขับเคลื่อนบัญชีข้อมูลภาครัฐและหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์บัญชีข้อมูลภาครัฐ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์บัญชีข้อมูลภาครัฐสู่การเป็น Smart Plus and Open Government” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมเชิญชวนให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนทั่วไปสืบค้น แบ่งปัน และใช้ประโยชน์จาก Government Data Catalog ในมิติต่างๆ