ดีพร้อม โชว์ความสำเร็จเอสเอ็มอี จากโครงการ คพอ. ลุยอบรมหลักสูตรครบวงจร

Spread the love

 

ภายใต้สถานการณ์แข่งขันในตลาดโลกที่มีความท้าทาย และก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง การที่ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศให้สามารถรับมือกับการแข่งขันที่ท้าทายของโลกที่เกิดขึ้น ภายใต้โมเดล ‘ไทยแลนด์ 4.0’ นั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งจากทุกภาคส่วนภายในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก

 

โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นย้ำถึงความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพราะเมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศเกิดความเข้มแข็ง ก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาความสามารถในต่าง ๆ รวมถึงยังทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน หากต้องเผชิญกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

 

สำหรับประเทศไทยการที่จะขับเคลื่อนประเทศให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้แข็งแกร่งและยั่งยืน ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (Small and Medium-sized Enterprises: SMEs) ถือเป็นอีกกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของประเทศ ปัจจุบันกิจการประเภท SMEs ของไทย คิดเป็น 95% ของธุรกิจทั้งหมด และมีการจ้างงานกว่า 50% ของธุรกิจทั้งหมด

 

แสดงให้เห็นว่า SMEs จึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาธุรกิจขนาดใหญ่ต่อไป ดังนั้นภารกิจในการเสริมสร้างขีดความสามารถ และพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) มาตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 41 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกด้าน

 

ด้วยการนำเสนอหลักสูตรเนื้อหาที่ครบวงจรทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่พร้อมจะพัฒนาและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตลอดจนรู้หลักในการบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้จุดเด่นที่สำคัญของ คพอ. คือการที่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงถึงกันและกันตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องส่วนตัวและธุรกิจ

 

โดยครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีจะพาไปดูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมโครงการ คพอ. ว่าได้นำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจตนเอง และมีผลลัพธ์ความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

 

นายอภิสิทธิ์ สุรีย์ จากบริษัท โกลไอซ์ จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำแข็ง และน้ำดื่ม หนึ่งในเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ คพอ. รุ่นที่ 368 จังหวัดพิษณุโลกเล่าว่า ทำให้ตนเองได้นำแผนกลยุทธ์ที่ได้จากการเข้าร่วมอบรม มาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาให้ธุรกิจมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำความรู้ทางด้านตลาดมาใช้เป็นหลัก

 

มีการนำแนวความรู้รวมถึงเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ มาปรับใช้สำหรับการนำเสนอสินค้าในรูปแบบออนไลน์ให้มีความหลากหลาย ทำให้ได้รับความสนใจจากลูกค้ามากขึ้น จนทำมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นราว 25% ซึ่งเป็นที่น่าพึ่งพอใจ

 

แม้ว่าธุรกิจผลิตน้ำแข็งและน้ำดื่มจะเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่แล้ว แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าคนหันมาสนใจข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์กันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นทำให้ทุกธุรกิจก็ต้องมีการปรับตัวให้ทัน เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

 

นายพรเทพ กุลนรัตน์ คพอ. รุ่น 346 กรุงเทพมหานคร และ นายสุรเชษฐ์ ศรีฉัตรพิรุณฬห์ คพอ.รุ่น 364 กรุงเทพมหานคร ร่วมลงทุนธุรกิจ หมีกินชิ้น ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับลูกชิ้นปลาทอด มะม่วงกะปิหวาน น้ำปลาหวาน ถือเป็นสองผู้ประกอบการที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญของ คพอ. คือการที่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงถึงกันและกัน

 

ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งเรื่องส่วนตัวและธุรกิจ โดยผู้ประกอบการทั้งสองท่านได้เข้าร่วมอบรมโครงการ คพอ. คนละรุ่นกัน แต่การสร้างเครือข่ายของ คพอ. ทำให้ทั้งสองท่านได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และสานต่อจนเกิดเป็นการลงทุนร่วมกันเป็นธุรกิจขึ้นมาใหม่ คือ ธุรกิจหมีกินชิ้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมของผู้ประกอบการทั้งสองท่าน จนปัจจุบันธุรกิจหมีกินชิ้น มีจำนวนสาขา 2 สาขา และยังมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีก 6 สาขาในอนาคตอีกด้วย

 

ด้าน นายใบน้อย สุวรรณชาตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ให้ความสำคัญกับการผนึกเครือข่ายของผู้ประกอบการ ซึ่งโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ถือเป็นเครือข่ายคุณภาพในมิติที่เอื้อกันด้วยภูมิเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคมีความเข้มแข็ง สำหรับการดำเนินงานประจำปี 2565 ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรม คพอ. ไปแล้ว 400 รุ่นทั่วประเทศ  ผ่าน 4 หลักสูตรการอบรม ที่ประกอบไปด้วย กิจกรรม AMT (Achievement Motivational Training)

 

การอบรมหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการธุรกิจ การประเมินธุรกิจและการจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจ ตลอดจนความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจ ผลสำเร็จที่ได้คือมีผู้ผ่านการอบรมเป็นสมาชิก คพอ. ทั้งสิ้น 12,207 ราย แยกเป็นชาย 7,009 ราย หญิง 5,198 ราย

 

ผลสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการปี 2565 ของผู้ประกอบการ จะกลายมาเป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรายอื่น ๆ รวมถึงยังช่วยสร้างแรงจูงใจ ความมุ่งมั่นแก่ผู้ประกอบการที่จะพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ

 

อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ เดินหน้ายกระดับความสามารถในการแข่งขันสู่สากลมากขึ้น ทำให้ในปี 2566 ดีพร้อม ได้ดำเนินการปรับหลักสูตรการอบรมให้มีความทันสมัยมากขึ้น

 

โดยนำเสนอออกเป็น 5 Module หลัก ๆ ได้แก่ 1.กิจกรรม AMT (Achievement Motivational Training) 2.การบริหารจัดการธุรกิจในมิติต่าง ๆ (Business Management) 3.การจัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Strategic Planning)

 

4.การนำองค์กรและการปรับธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนแปลง (Leadership & Change Management) และ 5.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ (Learning and Sharing) ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมเสริม เช่น การศึกษาดูงาน การจัดกิจกรรมเชื่อมโยง เป็นต้น

 

ทั้งหมดนี้เชื่อมั่นว่าจะทำให้ผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้อย่างครบคลุมทันต่อสถานการณ์โลก สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนา ต่อยอดในเชิงธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมราว70 ล้านบาท 

 

Scroll to Top