CMMU เผยผลสำรวจใหม่ปี 66 พบคนไทยกว่า 49% เลี้ยงสัตว์แทนลูก

Spread the love

 

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เผยผลสำรวจตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงในไทย ที่เติบโตสวนกระแสโควิดเป็นอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ว่ามูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2026

 

สอดคล้องกับจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นทุกปี ชี้ 49%ของกลุ่มตัวอย่างกลุ่มตัวอย่างมักจะเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) โดยมีค่าดูแลลูกทูนหัวเฉลี่ย 1-2 หมื่นบาท/ตัว/ปี นอกจากนี้หลายแบรนด์ยังเลือกใช้สัตว์เลี้ยงช่วยสื่อสารและสร้างภาพจำให้แบรนด์อีกด้วย นอกจากนี้ ซีเอ็มเอ็มยูได้ทำการวิจัยเจาะข้อมูลอินไซต์เหล่าทาส นำมาต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นกลยุทธ์ “PETSUMER” ให้นักการตลาดไว้ใช้มัดใจทาสสายเปย์

 

ผศ. ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตสวนกระแสโควิด-19 เป็นอย่างมาก โดยยูโรมอนิเตอร์ คาดการณ์ว่า ในปี 2026 ตลาดสัตว์เลี้ยงของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 217,615 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2%

 

ในขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2026 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเลี้ยงสัตว์ในไทยจากฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกปี แต่อัตราการเกิดของเด็กในไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นถึงครอบครัวจำนวนมากที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อเข้ามาเติมเต็มครอบครัว

 

นอกจากนี้ หลากหลายแบรนด์เลือกที่จะทำการตลาดในแนวทางของ Pet Marketing เพื่อสื่อสารแบรนด์ถึงกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ โดยกลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์เลือกใช้ “สัตว์เลี้ยง” เข้ามาเป็นอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งของแบรนด์เพื่อช่วยในการสื่อสารและสร้างภาพจำ หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด โดยภาพโฆษณาที่มีทั้งสัตว์และสินค้าอยู่ในโฆษณาจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากถึง 43.82% เพราะสัตว์จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค

 

อีกทั้งยังดูไม่ขายของจนเกินไป อีกหนึ่งแนวทางการทำการตลาดกับความน่ารักของเจ้านายทั้งหลาย คือ Pet Influencer โดยสัตว์เลี้ยงที่มีอิทธิพลที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ด้านการตลาดทั้งช่วยโปรโมทสินค้า หรือบริการ และมอบความบันเทิงให้ผู้ติดตาม แถมความน่ารักจะช่วยดึงดูดผู้ติดตามทั่วโลกออนไลน์ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

 

ด้าน นายพัชรพันธุ์ เทียนศิริ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ซีเอ็มเอ็มยู ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างโดยการตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,046 คน และสำรวจกลุ่มตัวอย่างโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 100 คน เป็นเพศหญิง 66.8% เพศชาย 22.3% และเพศทางเลือก 10.9% กลุ่มตัวอย่างส่วนมากเป็นกลุ่มคนเจเนอเรชันวาย อายุระหว่าง 24 – 41 ปี สูงถึง 77.3%

 

โดยกลุ่มตัวอย่างมักจะเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก (Pet Parent) 49% เลี้ยงสัตว์เพื่อสถานะทางสังคม (Pet Prestige) 34% และเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยเหลือและบำบัดรักษา (Pet Healing) 18% สำหรับประเภทสัตว์เลี้ยงที่มีมากที่สุด ได้แก่ สุนัข 40.4% แมว 37.1% และสัตว์เอ็กโซติก 22.6% นอกจากนี้ยังพบว่า 39.3% ของกลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือนอยู่ที่ 1,001 – 2,000 บาท

 

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลเสมือนลูกทั้งสุนัขและแมวเฉลี่ยอยู่ที่ 14,200 บาท/ตัว/ปี และบริการยอดฮิตที่เหล่าทาสเลือกใช้งานมากที่สุด คือ อาบน้ำตัดขนถึง 61% และส่วนใหญ่เลือกบริการต่างๆ จากทำเลที่สะดวกเหมาะต่อการเดินทาง

Scroll to Top