อีสท์ วอเตอร์ ยืนยันส่งมอบทรัพย์สินต้องถูกกฎหมาย ไม่ส่งผลกระทบผู้ใช้น้ำ

Spread the love

 

 

บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2535 เพื่อเป็นองค์กรใหม่ในการบริหารจัดการท่อส่งน้ำและให้บริการสาธารณะแก่ผู้ใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างมีเอกภาพมาตั้งแต่ปี 2536

 

เมื่อนับจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี ดังนั้น พันธะของบริษัทฯ ในการบริหารจัดการท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกดังกล่าวจึงมิใช่เพียงแค่การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นเท่านั้น แต่เป็นการดำเนินการตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2535 อีกด้วย

 

ด้วยเหตุนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากการบริหารจัดการท่อส่งน้ำที่เป็นทรัพย์สินของกระทรวงการคลังทั้งสามโครงการแล้ว บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำของตนเองเชื่อมโยงกับระบบท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลัง ในรูปแบบ Water Grid ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการผันน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆ

 

สำหรับใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะเป็นการเพิ่มเติม โดยเฉพาะการส่งน้ำและผันน้ำไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ให้ยังคงมีน้ำใช้ได้แม้ในช่วงเกิดวิกฤติภัยแล้ง การบริหารจัดการโครงการท่อส่งน้ำดังกล่าว จึงมีผลประโยชน์และผลกระทบของผู้ใช้น้ำเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมิใช่เพียงการให้เอกชนเข้ามาประกอบกิจการค้าหากำไร

 

ดังนั้น การส่งมอบคืนทรัพย์สินจึงมิใช่การดำเนินการตามความประสงค์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หัวใจสำคัญของการส่งมอบคืนทรัพย์สินให้แก่กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไปยังผู้ประกอบการรายใหม่ ต้องมีการวางแผนงานและกำหนดแนวทางขั้นตอนการดำเนินการที่เห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย

 

เพื่อมิให้เกิดปัญหาเป็นการดำเนินการที่เลือกปฏิบัติกับผู้ใช้น้ำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยคำนึงถึงและหลีกเลี่ยงมิให้ผู้ใช้น้ำได้รับผลกระทบในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เป็นสำคัญ

 

นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า เมื่อกรมธนารักษ์ประสงค์ที่จะตัดแยกระบบท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลัง และของบริษัทฯ เพื่อแยกดำเนินการและบริหารงานออกจากกัน บริษัทฯ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมากว่า 30 ปี จึงมองเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาได้อย่างชัดเจนว่าผู้ใช้น้ำจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

 

เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการส่งน้ำและผันน้ำลดลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขและปรับปรุง และผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำนี้ ก็มิได้มีแค่เพียงผู้ใช้น้ำตามแนวเส้นทางท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลังเท่านั้น แต่ยังมีผู้ใช้น้ำตามแนวเส้นทางท่อส่งน้ำของบริษัทฯ ด้วยเช่นกัน

 

สำหรับเหตุผลที่การกำหนดแนวทางขั้นตอนการส่งมอบ-รับมอบทรัพย์สิน ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ทับซ้อนด้วย ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าบริษัทฯ จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี และตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงทุนก่อสร้างท่อส่งน้ำของตนเองในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นการเพิ่มเติมและมีการเชื่อมต่อกับท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสูบส่งและจ่ายน้ำ

 

รวมทั้งการผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ของระบบท่อส่งน้ำเพิ่มเติม ซึ่งการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำของบริษัทฯ นั้น บางส่วนมีการใช้พื้นที่ราชพัสดุ เมื่อต้องมีการตัดแยกระบบท่อส่งน้ำออกจากกันเป็น 2 ส่วน จึงทำให้ยังคงมีทรัพย์สินของบริษัทฯ บางส่วนอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุดังกล่าว ซึ่งเป็นกรณีที่ทั้งบริษัทฯ และกรมธนารักษ์จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว

 

เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของบริษัทฯ ด้านการบริหารจัดการท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุปสรรคและผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ และเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง และกรมธนารักษ์ ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่บริษัทฯ

 

ในการขอรับการอนุมัติและการทำสัญญาต่างๆ ที่จำเป็นในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ด้วย อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วพบว่ามีทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำทั้งสองที่บริษัทฯ ได้รับมอบจากกรมธนารักษ์เมื่อปี 2540 และปี 2541 ซึ่งมิได้ใช้งานสามารถส่งคืนในกรณีที่กรมธนารักษ์มีความประสงค์ให้ส่งมอบคืนบางส่วนได้ต่อไป

 

ส่วนทรัพย์สินอื่นของโครงการท่อส่งน้ำทั้งสองนั้น บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับกรมธนารักษ์ในการกำหนดขั้นตอนแนวทางการส่งมอบ-รับมอบทรัพย์สิน โดยมีหลักการและวัตถุประสงค์ไม่สร้างปัญหาอุปสรรคและไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ ดังที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติให้กรมธนารักษ์ดำเนินการ และเป็นไปตามหลักกฎหมายในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะที่ต้องมีความต่อเนื่องต่อไป

 

อนึ่ง ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรมธนารักษ์แจ้งให้บริษัทฯ ส่งมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ไว้แล้ว

 

และบริษัทฯ ขอสงวนสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายในการเป็นผู้มีสิทธิใช้และบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกตามนิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับกระทรวงการคลัง และกรมธนารักษ์

 

รวมทั้งสิทธิของบริษัทฯ ในการดำเนินคดีต่างๆ ในศาลปกครองกับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมทั้งสิทธิประการอื่นใดตามกฎหมาย ตลอดจนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายทุกประการที่เกิดขึ้นหรือน่าจะเกิดขึ้นต่อไปด้วย

Scroll to Top