TCCtech ผนึก CMKL เสริมทัพความแข็งแกร่งให้สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ AIEI เพื่อรองรับบุคลากรคุณภาพด้าน AI

Spread the love

 

บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) นำโดย นายธีรพันธุ์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ (ซ้าย) และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) นำโดย รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดี (ขวา) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ชื่อ  สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute) AIEI  เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล

 

ให้มีคุณภาพรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม รวมไปถึงการร่วมสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนางานวิจัย ต่อยอดและประยุกต์ใช้งานวิศวกรรม เปิดพื้นที่การศึกษาด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์

 

นายธีรพันธุ์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยว่า  ทีซีซีเทค เป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีโซลูชั่นครบวงจร ในเครือทีซีซีกรุ๊ปที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ สายธุรกิจอุตสาหกรรมการค้า สายธุรกิจค้าปลีก สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สายธุรกิจการเกษตร ฯลฯ ซึ่งโดยภาพรวมเราจะมุ่งเน้นในเรื่องความยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมมาเป็นแรงขับเคลื่อน นำความรู้มาเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ (Turn knowledge into business value) ซึ่งองค์ความรู้ที่จะช่วยในการพัฒนาคนให้เป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI จะต้องทำร่วมกัน ใน 3 มิติ คือ ภาคธุรกิจ ภาคองค์กร และภาคการศึกษา

 

• ภาคธุรกิจ: ผลักดันให้ทุกคนเข้าใจ และสามารถนำเทคโนโลยี AI กับธุรกิจมาผสานให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

 

• ภาคองค์กร: เพิ่มศักยภาพในการทำงานของบุคลากร ให้สามารถใช้งาน AI ได้ผลลัพธ์สูงสุด ผ่านการอัพสกิลและรีสกิล เพื่อให้สามารถใช้เวลาที่เหลือไปต่อยอดพัฒนางานวิจัยด้าน AI ที่มีความยากและซับซ้อน

 

• ภาคการศึกษา: มุ่งหวังให้สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาได้ใช้งาน AI สำเร็จรูปในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ศักยภาพด้านใหม่ๆ ของ AI ที่ตลาดกำลังมองหา

 

ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เผยว่า  โครงสร้างหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ที่ได้รับเลือกเป็นหลักสูตรนำร่องนั้น ได้ถอดความต้องการจากประสบการณ์งานวิจัยและการพัฒนาของคณาจารย์ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มาพัฒนาเป็นองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทั้งสี่ด้านของสาขาวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering)

 

ความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่แห่งวงการการศึกษา ในการส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งยังช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Scroll to Top