รีวิว ทดสอบ Ford “Ranger RAPTOR X” Diesel 2.0 EcoBlue Bi-Turbo

Spread the love

 

กว่าจะเขียนบททดสอบ Ranger “RAPTOR X” Diesel 2.0 EcoBlue Bi-Turbo รุ่นนี้ ก็มีรุ่นใหม่ออกมาจ่อคิวแล้ว แต่ยังดีที่ยังไม่ได้ส่งมอบ และยังไม่มีเครื่องยนต์ดีเซล ดังนั้นก็นับได้ว่ารุ่นที่เรานำมาขับกันนี้ ก็ยังไม่ได้ตกรุ่นแต่อย่างใด และนับว่ายังมีความน่าสนใจแบบไม่ตกกระแส เพราะแม้แต่ในตลาดมือสอง ราคาก็ยังจัดว่าสูงไม่น้อย

 

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า Ranger RAPTOR ไม่ได้นำ Ford Ranger มาแต่งหน้าทาปากใหม่เท่านั้น เพราะฟอร์ดจัดใหญ่ด้วยการขยายตัวถังให้ใหญ่กว่าปกติ ไม่ใช่แค่ดูกว้างเพราะอุปกรณ์ตกแต่ง แต่ได้ยืดให้ยาวขึ้น 36 มิลลิเมตร กว้างขึ้น 178 มิลลิเมตร สูงขึ้น 58 มิลลิเมตร นอกจากนี้ระยะต่ำสุดถึงพื้น หรือ Ground Clearance สูงขึ้นอีก 53 มิลลิเมตร และความกว้างช่วงล้อหน้าและหลัง เพิ่มอีก 150 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับ Ranger รุ่นปกติ

 

สิ่งที่เพิ่มมาใน Ranger RAPTOR X ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นสุดท้ายของตัวถังนี้ ก็มาพร้อมกับ สติ๊กเกอร์ตกแต่งภายนอก รอบคัน สไตล์ “Over the Top” ชุดหูลากหน้ารถ สีแดง โลโก้ Ford สีดำ ที่ฝากระบะท้าย โรลบาร์ ดีไซน์ใหม่ ชุดตกแต่งสีดำรอบคัน กระจังหน้า F-O-R-D ขนาดใหญ่ ส่วนภายในห้องโดยสารนั้น ก็เดินตะเข็บด้ายสีแดง วัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสาร Raceway Hydrographic มือเปิดประตูภายในห้องโดยสาร สีดำ Black Alley

 

ส่วนล้อก็มาพร้อมกับอัลลอย 17 นิ้ว สีดำ Asphalt Black Matte พร้อมยางลุยขั้นสุดกับ BF Goodrich All-Terrain KO2 ขนาด 285/70 R17

 

 

การทดสอบครั้งนี้เราเดินทางไปยังบ้านอีต่อง เหมืองปิล็อค อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งใจนำคันนี้มาทดสอบที่นี่เพราะเรารู้ว่ามีเส้นทางที่เหมาะสมที่จะนำมาทดสอบกัน โดยเส้นทางที่เราไปคือเนินช้างศึก ซึ่งที่นี่เรียกได้ว่าการขึ้นไปค่อนข้างลำบาก เพราะถนนหนทางไม่ค่อยเป็นใจ ต้องใช้รถสูง ๆ หรือจะสบายหน่อยก็ใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ

 

Ranger RAPTOR X ใช้เครื่องยนต์ดีเซล EcoBlue TDCi 4 สูบแถวเรียง ขนาด 2.0 ลิตร เทอร์โบคู่ ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเทอร์โบแรงดันสูง และเทอร์โบแรงดันต่ำ ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร จับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ พร้อมระบบเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Paddle Shift

 

การขับบนทางเรียบเครื่องยนต์ของ RAPTOR X ให้การตอบสนองที่ดี อัตราเร่งไม่ได้มาแบบจี๊ดจ๊าด แต่ความเร็วและความแรงจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ แนวทางเดียวกับรถหรูยุโรป พลังมีความต่อเนื่องและให้การตอบสนองที่ดี ช่วงล่างบนถนนปกติให้ความหนึบแน่นและไม่รู้สึกเลยว่ากำลังขับรถกระบะอยู่ นิ่งในความเร็วสูง ไม่เสียเกียรติโช๊คอัพ 2 คู่ ราคาเกือบ 2 แสนบาท และแม้ตัวรถจะสูงเพราะระยะต่ำสุดถึงพื้น 283 มิลลิเมตร ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความโคลงเคลงในทุกช่วงความเร็วหรือเปลี่ยนเลนกระทันหันเลย

 

ความพิเศษนอกเหนือไปจากเครื่องยนต์และช่วงล่างคือ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Terrain Management System ที่มีให้เลือกใช้งานกัน 6 รูปแบบ อันประกอบด้วย 1. Normal (โหมดปกติ) 2. Sport (สปอร์ต) 3. Grass / Gravel / Snow (หญ้า กรวด/หิน หิมะ) 4. Mud / Sand (โคลน/ทราย) 5. Rock (หิน)

 

และ 6. Baja : บาฮา ปรับการตอบสนองเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับแบบ Off-Road ความเร็วสูง ซึ่งจะตัดการทำงานระบบ Traction Control และปรับการตอบสนองของระบบส่งกำลัง (เกียร์) พร้อมเฟืองท้ายแบบ Electronic Locking Rear Differential

 

 

แน่นอนว่าการนำมาขับครั้งนี้ไม่ได้เน้นลุยหนัก และไม่ได้เปิดโหมด บาฮา แต่บอกได้เลยว่าการไต่ขึ้นเขาที่ค่อนข้างขรุขระและลาดชัน ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ขึ้นลงได้แบบง่าย ๆ ไม่เครียด ต่างจากการใช้รถยนต์ปกติที่ต้องใช้ความระมัดระวังและเกร็งมากกว่า หรือแม้แต่ใช้ออฟโรดก็ต้องใช้ความพยายามหน่อย แต่สำหรับ RAPTOR X แล้ว มันชิวมากเลย การวิ่งในพื้นที่หินกรวดทรายไม่มีความกระเด้งกระดอนเหมือนรถกระบะทั่วไป เพราะช่วงล่างมีการซับแรงสะเทือนที่ดีมาก

 

เช่นเดียวกับการขับขึ้นเขาที่คดเคี้ยว เลี้ยวเลาะไปตามโค้งต่าง ๆ รถกระบะพันธุ์โหดคันนี้ตอบสนองได้เป็นอย่างดี ไม่อุ้ยอ้าย ไม่มีการวอกแวกหรือสร้างความไม่มั่นใจให้เลย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้แชสซีส์พิเศษที่รองรับการออฟโรดความเร็วสูง ซึ่งประกอบด้วยระบบกันสะเทือนด้านหน้า เป็นแบบอิสระปีกนกอะลูมิเนียม 2 ชั้น พร้อมช็อคอัพ Fox Racing Shox แบบมีระบบ Internal Bypass พร้อมเหล็กกันโคลง

 

ส่วนระบบกันสะเทือนด้านหลัง Coil over Shock มาพร้อมช็อคอัพ Fox Racing Shox แบบมี Subtank ระบบ Internal Bypass พร้อมวัตต์ลิงค์ Watt’s Linkage และพวงมาลัยพาวเวอร์แบบช่วยผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า EPAS องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้การขับขี่ในทุกพื้นที่ทำได้แบบราบรื่น สร้างความแตกต่างจากกระบะทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่มีในเมืองไทยได้อย่างชัดเจน และทำให้เราเข้าใจว่าทำไมต้องแพงกว่ารุ่นปกติถึงครึ่งล้านบาท

 

 

หันมาดูภายในกันบ้าง เบาะนั่งทั้งคันหุ้มด้วย Alcantara แบบ Bolsters Seat เบาะนั่งคนขับ ปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง เบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้า ปรับด้วยมือ 6 ทิศทาง ตัวเบาะคู่หน้าให้ความสบายพอสมควร ส่วนที่นั่งด้านหลังก็สบาย โดยภาพรวมภายในห้องโดยสารมีการตกแต่งที่ดูดุดันแตกต่างและให้ผิวสัมผัสที่ดี มีวัสดุตกแต่งภายในห้องโดยสาร Raceway Hydrographic เดินตะเข็บด้ายสีแดง และมือเปิดประตูภายในห้องโดยสาร สีดำ Black Alley

 

ส่วนพวงมาลัยหุ้มหนัง พร้อม On-Center Marker สีแดง รูปแบบเดียวกับที่รถสปอร์ตมี แถมด้วยแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Paddle Shifter แบบ Magnesium ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control ด้านกระจกมองหลัง แบบปรับลดแสงอัตโนมัติ และมีช่องเชื่อมต่อ USB ที่กระจกมองหลัง กระจกหน้าต่างไฟฟ้า ขึ้น-ลงอัตโนมัติ แถมระบบป้องกันการหนีบ Protection Jam ฝั่งคนขับ ซึ่งจริง ๆ จะให้ Protection Jam ทั้ง 4 บานก็ไม่ว่าอะไรหรอก

 

ความหรูหราไฮโซยังมาพร้อมระบบกุญแจ Smart Keyless Entry ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ Push Start Buttonระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติ แยกอิสระซ้าย-ขวา Dual Zone กระจกมองหลัง แบบปรับลดแสงอัตโนมัติ และที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับฟอร์ดรุ่นแพง ๆ คือ ระบบตัดเสียงรบกวนจากภายนอก Active Noise Cancellation System ซึ่งจะช่วยให้ภายในรถเงียบมากขึ้นไปอีก

 

ชุดมาตรวัดหลังพวงมาลัยเป็นแบบเรืองแสง Optitron พร้อมหน้าจอ MID แบบสี ขนาด 4 นิ้ว ส่วนทางด้านความบันเทิงนั้นก็จัดมาให้กับ หน้าจอเครื่องเสียงระบบสัมผัส Mult i-Touch ขนาด 8 นิ้ว ที่จะมีเครื่องเสียง วิทยุ AM/FM CD MP3 ลำโพง 6 ตำแหน่ง ระบบนำทาง Navigation System และระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC 3 รองรับ Apple Car Play / Andriod Auto แบบเสียบสาย

 

การเชื่อมต่อกับรถยนต์ก็สามารถใช้งานได้ทั้งบลูทูธ หรือใช้งาน Apple Car Play / Andriod Auto เปิดบางฟังก์ชั่นของมือถือก็ทำได้ตามสะดวก นอกจากนี้ยังมีช่องเชื่อมต่อ USB 2 ตำแหน่ง ระบบเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth แถมด้วยช่องชาร์จไฟปลั๊กไฟบ้าน 230V

 

ออปชันภายนอกจัดเต็มด้วย ไฟหน้า Projector Lens แบบ Bi-LED ไฟ Daytime Running Light แบบ LED, ไฟตัดหมอก แบบ LED ระบบเปิด-ปิดไฟหน้า แบบอัตโนมัติ ระบบปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติ Rain Sensor. กระจกมองข้าง พร้อมไฟเลี้ยวในตัว กระจกมองข้าง ปรับและพับด้วยไฟฟ้า ไฟส่องสว่างข้างตัวรถ และยังมีระบบช่วยผ่อนแรงฝาท้ายกระบะ Easy Lift Tailgate ที่ช่วยให้ฝาท้ายที่เคยสร้างมัดกล้ามได้ กลายเป็นฝาท้ายที่เบาหวิว เปิดปิดได้ง่ายทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ หรือแม้แต่หญิงสาวผู้บอบบาง และพื้นปูกระบะท้าย Bedliner

 

 

จัดเต็มด้วยความปลอดภัยที่มากกว่าปกติ อาทิ ระบบควบคุมการทรงตัวขณะลากจูง Trailer Sway Mitigation, ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง Lane Keeping System ระบบช่วยเตือนอาการเหนื่อยล้าขณะขับขี่ Driver Alert System ระบบเตือนการชนด้านหน้า Forward Collision Warning System ระบบเบรกอัตโนมัติ ตรวจจับรถ และคนเดินถนน AEB : Autonomous Emergency Braking ระบบช่วยเหลือฉุกเฉิน Emergency Assistance
สัญญาณกันขโมย แบบ Volumetric

 

Ranger RAPTOR X 2.0 Bi-Turbo ราคา 1,729,000 บาท แม้จะดูว่าแพงกว่ากระบะรุ่นอื่น ๆ ในตลาด แต่สำหรับคนที่ชอบความลุยแบบสุดตัว ความแรง และออปชันที่ให้มาแล้ว คนที่ได้ขับจะรู้เลยว่าทำไมถึงตั้งราคาสูงขนาดนี้ ความดีในหลายด้านมีให้สัมผัสจนเราเองก็รู้สึกได้ถึงความแตกต่างจากรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อรุ่นอื่น ๆ ที่ได้ขับมา เป็น DNA ของ Ford Performance อีกรุ่นหนึ่งที่บอกได้ทันทีว่า ถ้าชอบก็ซื้อเลย ไม่ผิดหวัง

 

RAPTOR X ไม่ได้เป็นรถสำหรับทุกคน แต่เป็นเวอร์ชั่นเฉพาะสำหรับลูกค้าบางกลุ่ม ที่ต้องการใช้งานแบบลุยโหด ใช้งานที่แตกต่างจากกระบะ 4×4 ทั่วไป หรือแม้กระทั่งเป็นรถที่ซื้อไว้ขับหล่อ ๆ เท่ ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเอาไปเลอะโคลนเลอะทรายเลยก็ได้.. ถ้าเรามีเงินพร้อมที่จะซื้อ เสียงนกเสียงกาก็ทำอะไรความตั้งใจไม่ได้

 

Scroll to Top