รีวิว ทดสอบ ORA Good Cat กับ 5 เรื่องต้องรู้ ก่อนคบแมวเหมียวไฟฟ้า

Spread the love

 

ORA Good Cat ยังคงมีความร้อนแรงไม่ตก ตั้งแต่ก่อนเปิดตัว จนกระทั่งเปิดตัวแล้วก็มียอดจองไม่ได้ขาดสาย ด้วยรูปทรงแนวเรโทรกระชากใจกับภายในที่ดึงดูด รวมไปถึงออปชันต่าง ๆ ที่จัดมาให้ นับได้ว่าเพียบพร้อมและเพียงพอที่จะทำให้หลายคนตัดสินใจเลือก แต่สำหรับคนที่เล็งอยู่และยังตัดสินใจไม่ได้นั้น

 

Techmoveon ได้หยิบยืม ORA Good Cat รุ่น 400 Pro มาใช้จริงกันแบบยาว ๆ จนพบว่า มี 5 ข้อควรรู้ก่อนที่จะคบกับแมวเหมียวไฟฟ้าอย่างจริงจัง

 

ORA Good Cat มีด้วยกันทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ ORA Good Cat 400 TECH, ORA Good Cat 400 PRO และ ORA Good Cat 500 ULTRA ระยะทางต่อการชาร์จหนึ่งครั้งก็จะอยู่ที่ 400 และ 500 กิโลเมตร (แล้วแต่รุ่นที่เลือก) เห็นรูปร่างเล็ก ๆ บอกเลยว่าไม่เล็กนะจ๊ะ เพราะมิติตัวรถอยู่ 1,825 x 4,235 x 1,596 มม. (กว้าง x ยาว x สูง) ระยะฐานล้อ 2,650 มม. สีรถภายนอกมีทั้งหมด 7 สี ส่วนสีรถภายในก็มี 3 สี (แล้วแต่รุ่นและการเลือกสีภายนอกเช่นกัน)

 

 

1.แมวไฟฟ้าไม่กินน้ำมัน ดังนั้นถ้าไม่มีสถานีชาร์จใกล้บ้าน หรือบ้านที่อยู่เอื้อกับการชาร์จไฟฟ้า พักก่อน!!

 

ชาว “โลกสีเขียว” ที่อยากได้แมวเหมียวไฟฟ้า ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่าถ้าเราใช้รถเติมน้ำมันมาทั้งชีวิต ปั้มน้ำมันมีอยู่มากมาย แต่สำหรับ ORA Good Cat นั้น เป็นรถไฟฟ้าล้วนที่จะใช้น้ำมันมาทดแทนไม่ได้เลย จะให้ใช้การจั๊มพ์แบตแบบตอนรถแบตหมดนั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำได้เพียงแค่ให้ GMW มาชาร์จไฟฉุกเฉินให้ เพื่อขับไปหาที่ชาร์จที่อื่นต่อ อันนั้นก็ว่าไป

 

ดังนั้นถ้าอยากเป็นเจ้าของจำเป็นต้องมีสถานีชาร์จอยู่ใกล้บ้าน หรือไม่บ้านของเราก็ต้องมีความพร้อมของสายไฟและขนาดไฟ เพื่อที่จะใช้ติดตั้ง Wall Box สำหรับชาร์จรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ ถ้าชีวิตยังอยู่คอนโดที่ไม่มีปลั๊กชาร์จซัพพอร์ต หรือบ้านไม่พร้อมกับการมีสายชาร์จไฟฟ้า หรือไม่มีจุดชาร์จแบบกระแสตรงหรือ DC อยู่ในละแวกใกล้เคียง หยุดความคิดที่จะคบแมว ไปคบสิงโตยิ้ม JoLion จะบันเทิงเริงใจมากกว่า

 

ทั้งนี้แม้ว่าใกล้บ้านอาจจะมีปั๊มน้ำมันที่มีจุดชาร์จแบบกระแสสลับหรือ AC ก็ได้ แต่เราก็ต้องเป็นผู้ใช้งานคนเดียวนะ เพื่อที่จะชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืนกว่าจะเต็ม ส่วนสถานีชาร์จอื่นที่คุยไว้ว่ามีมากมาย สุดท้ายถ้าชาร์จแบบ AC ก็โบกมือลาไปก่อนเลย เพราะเท่าที่ทดลองใช้ของค่ายหนึ่ง ชาร์จไป 50 นาที เสียเงินไป 50 บาท วิ่งได้แค่ 20 กิโลเมตร ตั้งจุดไว้แบบนี้ จริง ๆ ไม่ต้องมีก็ได้

 

 

2.พิกัดการเดินทาง 400 กิโลเมตร เป็นตัวเลขจากผู้ผลิต ที่ผู้ใช้จริงไม่มีทางทำได้

 

ORA Good Cat ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor ให้กำลังสูงสุด 105 kW หรือ 143 PS แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร ซึ่งในรุ่น 400 PRO นี้ทาง GWM เคลมตัวเลขไว้ว่ามีพิสัยการเดินทางได้ประมาณ 400 กิโลเมตร ดังนั้นทริปนี้เราจึงขอไปลั้นลากันไม่ใกล้ไม่ไกล ไปพัทยากันก่อน

 

แต่ก่อนที่จะเราจะไปโลดแล่นกันบนมอเตอร์เวย์ ก็แวะชาร์จไฟให้เต็ม หลังจากก่อนหน้านี้เราวิ่งเล่นกันในเมืองมาพักนึง และเราก็เลือกที่จะชาร์จแบบ DC ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงถึงจะเต็ม (อาจจะช้าหรือเร็วกว่านี้ขึ้นอยู่กับพลังของจุดชาร์จ) เมื่อตู้ตัดแล้วก็จะได้พลังงานประมาณ 90% ส่วนหน้าปัทม์ก็ขึ้นว่าวิ่งได้อยู่ที่ 360 กิโลเมตร

 

ด้วยความเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ทำให้การออกตัวค่อนข้างจี๊ดจ๊าด ขัดกับรูปทรงที่ดูเรโทรที่ดูเหมือนจะคลานช้า ๆ โชว์ความสวย แต่จริง ๆ คือ เป็นแมวที่คล่องแคล่วมาก การกดคันเร่งมีพลังอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องรอรอบเหมือนเครื่องยนต์สันดาป การขับบนท้องถนนทางไกลทำได้แบบสบาย ๆ

 

กดเมื่อไรพลังมาเมื่อนั้นตามประสารถยนต์ไฟฟ้า จะเร่งแซง จะกดหนีกระบะบ้าพลังก็ทำได้แบบฉีกไปเนียน ๆ แล้วก็จะทิ้งห่างจนรถคอกพ่นหมึกที่พยายามจะเร่งตามด้วยความโมโห ดังนั้นเรื่องอัตราเร่งในทุกรอบความเร็ว ไว้ใจแมวเหมียวไฟฟ้าได้เลย

 

 

แต่ช้าก่อน.. ด้วยความเป็นรถขับลื่นสนุก และเหยียบได้ลื่นไหลสนุกสนาน แต่ความสนุกนั้นก็ต้องแลกมาด้วยการกินพลังงานไฟฟ้าแบบดุเดือดเช่นกัน ไม่ต่างจากการขับรถที่มีเครื่องยนต์สมรรถนสูง ก็ต้องกินน้ำมันมากขึ้นไปด้วยเท่านั้น เพราะหลังจากเราชาร์จแบตขึ้นมาอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ หรือวิ่งได้ตามหน้าปัทม์ 360 กิโลเมตร แล้วเราก็พบว่าเมื่อเหยียบแบบจริง ๆ ออกแนวรถซิ่งแล้ว มีระยะทางวิ่งได้จริงไม่ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยซ้ำ

 

แต่ถ้าขับกันแบบคนปกติขับ ไม่ได้เร็วมาก สูงสุดตามที่กฏหมายกำหนดบ้าง ช้ากว่าบ้าง สลับกับการหยุดพักตอนรถติด ตัวเลขที่จะได้เห็นในระดับ 300 ต้น ๆ มีมาอย่างแน่นอน ถ้าเหยียบกันระดับ 140-150 ตลอด ก็พึงระวังให้ว่าให้หาที่ชาร์จไฟใกล้ ๆ ให้ได้ก่อน ค่อยคึกคะนองแบบนั้น

 

เพราะบางครั้งแม้แบตจะแจ้งว่าเหลือวิ่งได้อีก 70 กิโลเมตร และจุดชาร์จอยู่ห่างเพียง 40 กิโลมตร ถ้าขับแบบไม่ระวัง “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็เดินไม่ถึง” เพลงนี้จะลอยเข้าหูเข้ามาทันที

 

 

ความเร็วสูงสุดตามสเปคบอกไว้ที่ 152 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ก็มีขับเกินได้บ้างนิดหน่อย และแค่เหยียบคันเร่งแป๊บเดียว เราก็เข้าใกล้ความเร็วสูงสุดกันแล้ว ระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัท (MacPherson Strut) พร้อมเหล็กกันโคลง ระบบช่วงล่างด้านหลังแบบทอร์ชันบีม (Torsion Beam) พร้อมเหล็กกันโคลง ให้ความมั่นใจได้ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะตอบโจทย์การขับแบบดุเดือดเยี่ยงรถยุโรป

 

ระบบการขับขี่มีมาทั้งหมดทั้งหมด 5 แบบ ได้แก่ 1. มาตรฐาน 2. Sport 3. ECO 4. ECO+ และ 5. อัตโนมัติ ตลอดการเดินทางใช้เป็นระบบอัตโนมัติ แต่ถ้าอยากดุเดือดก็เลือกแบบ Sport แต่ก็ต้องมั่นใจก่อนนะว่าไฟในแบตเตอรี่จะเหลือให้เพียงพอ ไม่เช่นนั้นอาจจะจอดโชว์สวย ๆ ให้คนมอง แต่ขับต่อไปไหนไม่ได้

 

แม้แมวเหมียวไฟฟ้ามีความสามารถการกู้คืนพลังงาน (Energy Recovery)ที่เราจะสามารถดึงพลังงานคืนเข้าแบตเตอรี่จากการหน่วงเวลาถอนคันเร่ง หรือการเบรค เพื่อเพิ่มระยะทางการวิ่ง ก็ทำได้สามระดับ ได้แก่ น้อย, มาตรฐาน และมาก แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า ถ้ากดคันเร่งแบบดุเดือดเลือดพล่านการคืนพลังงานก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนะ

 

 

3.ถ้าวิถีชีวิตเป็นคนใจร้อน และชอบเที่ยวไกล หันไปคบ H6 หรือ Jolion จะเหมาะกว่า

 

ในการเดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งกลายเป็นเรื่องใหม่ (ไม่มาก) ในเมืองไทย การวางแผนการชาร์จที่ดีเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพราะแม้การชาร์จในแต่ละครั้งของหัวชาร์จแบบเร็วหรือ DC นั้นอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ดังนั้นหากต้องการเดินทางไกลกว่าพิสัยที่รถจะไปถึง จึงต้องเผื่อเวลาไว้ค่อนข้างมากพอสมควร และที่สำคัญคือจุดหมายปลายทางมีปลั๊กพร้อมให้ชาร์จหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ต้องคิดเผื่อเช่นกัน

 

จริงอยู่ที่ว่าการหน้าจอตรงกลางระบบมัลติมิเดียพร้อมระบบสัมผัส ขนาด 10.25 นิ้ว จะช่วยอำนวยความสะดวกในการช่วยหาสถานีชาร์จให้ แต่บางครั้งก็พาเราไปยังค่ายคู่แข่ง ที่จะไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ แม้ว่าจะใช้หัวชาร์จแบบเดียวกัน เพราะค่ายนั้นต้องเป็นลูกค้าจึงจะเข้าระบบได้ ถ้าไม่ใช่ลูกค้าก็ไม่มีสิทธิ

 

การแก้ปัญหาที่ทำได้คือเราควรจะโหลดแอปพลิชันที่รวบรวมสถานีชาร์จที่หลากหลายแบรนด์ไว้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีมากมายหลายยี่ห้อ แนะนำเลยว่าให้เลือกแบรนด์ที่จับมือกับบรรดาการไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือแม้แต่การไฟฟ้านควรหลวง เพราะมั่นใจได้เลยว่ามีหัวจ่ายไฟเกินกว่า 1 หัวแน่นอน

 

 

ทั้งนี้แต่ละแอปจะมีการจ่ายค่าบริการที่แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนจะขับไปไหนโหลดแอปรอไว้ให้เสร็จสรรพ จะตัดบัตรเครดิตหรือหักเงินผ่านบัญชีธนาคารก็จัดการให้เรียบร้อย เพื่อการเดินทางและการชาร์จไฟที่ราบรื่น แต่สำหรับการใช้งานในปั๊มปตท. ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเปิดให้ใช้งานกันได้แล้ว ก็ต้องมีการโหลดแอปพลิเคชันไว้เช่นกัน เพราะจะต้องจองก่อนเข้าชาร์จ โดยทางปตท.ยังไม่ได้คิดค่าบริการ ดังนั้นสามารถใช้ฟรีได้

 

การเดินทางมาพัทยาครั้งนี้โชคดีที่มีปั๊มชาร์จให้บริการเป็นระยะ โดยเฉพาะของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ต้องบอกเลยว่าดีงามมาก ๆ มีความเป็นส่วนตัวและดูปลอดภัย และจากการใช้งานในรอบนี้การจ่ายเงินเพื่อชาร์จดีกว่าการใช้งานฟรี ที่บางทีหลุดง่ายเหลือเกิน

 

 

รีวิว ทดสอบ ORA Good Cat กับ 5 เรื่องต้องรู้ก่อนคบแมวไฟฟ้า

 

แม้ใจปัจจุบันสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลาย และครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากขึ้น แต่จุดชาร์จก็มี 2 แบบที่ต้องควรรู้ โดยมีทั้ง AC Charge ซึ่งเป็นการชาร์จแบบธรรมดา เป็นการชาร์จไฟแบบด้วยการจ่ายไฟแบบกระแสสลับ จะมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ต่ำทำให้ใช้เวลาในชาร์จค่อนข้างนาน หากชาร์จไฟจนเต็มอาจใช้เวลา 7-10 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความจุแบตเตอรี่ และอัตราการจ่ายกระแสไฟของเครื่องนั้น ๆ แต่จะมีผลดีต่อแบตเตอรี่ในระยะยาว

 

DC Charge หรือ Quick Charge เป็นการชาร์จไฟแบบเร็วด้วยการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง จะใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่จาก 0-80% ในเวลาไม่เกิน 60 นาที ปริมาณและเวลาอาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ภายในรถยนต์

 

 

ORA Good Cat มีแบตเตอรี่ให้เลือก 2 แบบ 2 ความจุ โดยแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) ความจุ 47.788 kWh มีระยะทางวิ่งสูงสุด 400 กิโลเมตร ในรุ่น 400 TECH และ 400 PRO รองรับการชาร์จแบบเร็วด้วยไฟกระแสตรง (DC) สูงสุด 60 kW และการชาร์จไฟบ้านแบบ AC 6.6 kW ระยะเวลาการชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC (0% – 80%) 45 นาที ชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC (30% – 80%) 32 นาที และชาร์จด้วยไฟบ้านแบบ AC 8 ชั่วโมง

 

แบตเตอรี่ชนิดลิเธียม Ternary (NMC) ความจุ 63.139 kWh ระยะทางวิ่งสูงสุด 500 กิโลเมตร ในรุ่น 500 ULTRA รองรับการชาร์จแบบเร็วด้วยไฟกระแสตรง (DC) สูงสุด 60 kW และการชาร์จไฟบ้านแบบ AC 6.6 kW ระยะเวลาการชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC (0% – 80%) 60 นาที ชาร์จแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง DC (30% – 80%) 40 นาที และชาร์จด้วยไฟบ้านแบบ AC 10 ชั่วโมง

 

สำหรับการเดินทางนั้นแนะนำให้เลือกหัวชาร์จ DC เท่านั้น เพื่อจะได้ไฟเข้าแบบเต็ม ๆ ในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะการหากต้องเดินทางอย่างต่อเนื่อง การชาร์จไฟด้วยช่องจ่ายไฟแบบ AC กลายเป็นเรื่องที่ไร้สาระไปเลย สำหรับในช่วงเดินทาง ควรเก็บไว้ชาร์จในช่วงเวลากลางคืน เพราะต้องใช้เวลานาน

 

5. แมวเหมียวไฟฟ้ามีเทคโนโลยีเพียบ ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป

 

ใครที่เคยชินกับการเปิดใช้งานสวิตช์แบบกดปุ่ม แบบมือหมุน เพื่อเปิดอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถ คงต้องปรับความรู้สึกใหม่ เพราะแมวเหมียวผู้ทันสมัยคันนี้เน้นการทัชสกรีนที่หน้าจอเป็นหลัก เพื่อทำการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันต่าง ๆ ภายในรถ ดังนั้นเจ้าของจึงต้องค่อย ๆ ศึกษาและเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เพราะแน่นอนว่าการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์แรกของ GWM ที่เข้ามานำเสนอในเมืองไทย การจะใช่ออปชันต่าง ๆ มาให้จึงจำเป็นต้องดึงดูดกันสักหน่อย

 

แต่ที่ขัดอกขัดใจนิดหน่อยคือ หน้าจอตรงกลางระบบมัลติมิเดียพร้อมระบบสัมผัส ที่แม้จะใช้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่าย เพราะบางครั้งเราต้องจิ้มหลายครั้งกว่าจะเข้าถึงเมนูที่ต้องการได้ แต่เชื่อว่าถ้าใช้งานบ่อย ๆ ก็จะมีความชินไปเองนอกจากนี้อาจจะมีการหน่วง ๆ บ้าง แต่คิดว่าเมื่อทำการอัปเดตแล้วจะเสถียรขึ้น เหมือนกับการใช้งานมือถือนั่นล่ะ ก็ต้องคอยอัปเดตฟีเจอร์ในเครื่องอยู่บ่อย ๆ

 

 

นอกจากนี้ยังมี ระบบสั่งการด้วยเสียงอัจฉริยะ ผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่จะมีความสามารถในการจดจำเสียงได้เป็นอย่างดี สามารถควบคุมการใช้งานฟังก์ชันทั้ง เครื่องปรับอากาศ ซันรูฟ ระบบนำทาง และมัลติมีเดีย ได้ในประโยคเดียว นอกจากนี้ยังมี GWM Application การเชื่อมต่อโครงข่ายระยะไกล ช่วยให้สามารถควบคุมการเปิด-ปิดการชาร์จ เครื่องปรับอากาศ ปิดหน้าต่าง ได้จากระยะไกล และสามารถดูสถานะของรถได้

 

ORA Good Cat ยังมาพร้อมกับระบบช่วยเหลือการขับขี่อัจฉริยะ ที่ให้มาเยอะเหลือเกิน อย่างเช่น ระบบการช่วยเหลือผู้ขับขี่และระบบความปลอดภัย ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติบนทางตรงและทางแยก (AEBI) ที่มาพร้อมระบบการตรวจจับคนเดินถนน และทางแยก โดยสามารถคำนวณระยะทางระหว่างรถและคนเดินถนนได้แบบเรียลไทม์ มีสัญญาณเตือนด้วยเสียงและการเบรกอัตโนมัติช่วยหลีกเลี่ยงการชนหรือลดแรงกระแทก

 

การเบรกฉุกเฉินความเร็วต่ำ เมื่อเรดาร์ทำงาน จะตรวจสิ่งกีดขวางทั้งที่หยุดนิ่งหรือคนเดินถนนที่เคลื่อนที่ในแนวถอยจอด และหากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะชน ระบบจะช่วยเบรคให้อัตโนมัติ โดยความเร็วขณะถอยจะไม่ต้องเกิน 8 กม./ชม.ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LKA) ช่วยควบคุมพวงมาลัยให้รถอยู่ในเลน โดยจะระบุเส้นแบ่งเลนถนนผ่านกล้องที่กระจกหน้ารถ เมื่อคนขับเบี่ยงเลนโดยไม่รู้ตัว ระบบจะช่วยระบบจะช่วยควบคุมพวงมาลัยให้รถอยู่ในเลน เมื่อระบบตรวจสอบพบว่าผู้ขับขี่มีลักษณะการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย ระบบจะแจ้งเตือนด้วยเสียง

 

ระบบช่วยเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่จากด้านข้าง (WDS) โดยระบบจะตรวจสอบรถบรรทุกขนาดใหญ่หรือรถที่มีขนาดยาว​ โดยในระหว่างการแซง ระบบจะรักษาช่องว่างระหว่างรถตามระยะที่เหมาะสม​เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ และจะประคองรถให้กลับสู่เลนเดิมอัตโนมัติ

 

การเข้าโค้งอัจฉริยะ (Intelligent Turn) เมื่อระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (ACC) ทำงาน กล้องจะทำการตรวจสอบความโค้งของถนน และความเร็วจะถูกปรับอัตโนมัติหากจำเป็นต้องลดความเร็วในขณะเข้าโค้งเพื่อความปลอดภัย และเมื่อผ่านโค้งไปแล้ว รถจะกลับเข้าสู่ความเร็วเดิมที่ตั้งไว้

 

 

กล้องแสดงภาพรอบทิศทาง 360 องศา ประกอบไปด้วยกล้องที่มองได้รอบ 4 ตัว มีความละเอียดคมชัด 4 Megapixel โดยระบบจะรวมเอามุมมองภาพทั้ง 4 กล้องมาสร้างภาพที่มีมุมมอง 360 องศา เพื่อแสดงให้เห็นมุมมองของรถในแบบ “เฮลิคอปเตอร์” และเปิดการทำงานอัตโนมัติเมื่อเข้าสู่โหมดการถอยหลัง โดยสามารถดูได้เมื่อขับรถที่ความเร็ว 15 หรือ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและตอนสตาร์ทรถ

 

ระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ 3 รูปแบบ (IAP) ใช้เซนเซอร์และกล้องในการตรวจสอบเพื่อตรวจจับวัตถุและเครื่องหมายบริเวณช่องจอดหรือจุดจอดรถและช่วยทำงานเต็มรูปแบบเพื่อเข้าจอด ทั้งแนวตั้ง แนวนอน หรือ แนวเฉียง โดยเมื่อระบุช่องว่างที่จะนำรถเข้าจอดแล้ว รถจะทำการจอดด้วยตัวเองด้วยการควบคุมพวงมาลัย เบรก และคันเร่ง

 

ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA) เซนเซอร์ช่วยตรวจสอบจุดอับสายตาด้านหลังของตัวรถทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของช่องทางเดินรถในขณะถอยหลัง เมื่อกำลังถอยหลังออกจากช่องจอดเข้าสู่ช่องจราจร เซนเซอร์หลังของรถจะทำการเช็กด้านซ้ายและขวาของช่องจราจรและ ส่งสัญญาณเตือนด้วยเสียงและภาพ หากผู้ขับขี่ยังเพิกเฉย ไม่หยุดรถ ระบบเบรกอัตโนมัติในกรณีฉุกเฉินจะเริ่มทำงานด้วยการ ลดความเร็วและหยุดรถเพื่อหลีกเลี่ยงการชน

 

ทางด้านความมั่นใจในตัวรถกันบ้าง แบตเตอรี่ของรถยนต์ ORA Good Cat มาพร้อมอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยทางไฟฟ้าของรถยนต์กว่า 416 รายการ ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวประสิทธิภาพสูง ระบบตรวจจับ 360 องศา ป้องกันการชนกันของแบตเตอรี่ และระบบเตือนแบตเตอรี่อัจฉริยะ

 

 

สรุป การทดลองขับ ORA Good Cat แบบจริงจังครั้งนี้ ต้องบอกเลยว่ายังคงประทับใจเหมือนกับครั้งที่ได้ลองในช่วงสั้นๆ รูปทรงสวยดึงดูดมาในแนวย้อนยุค การตกแต่งทำได้ดี วัสดุที่ใช้ดูดี เทคโนโลยีแน่น ๆ เกินหน้าเกินตารถเครื่องยนต์สันดาปในราคาเดียวกันไปมาก ขับง่าย อัตราเร่งดี การเร่งแซงไม่มีสะดุด ช่วงล่างดี มีพิสัยการเดินทางไปได้ไกลกว่ารุ่นอื่นในตลาด และที่สำคัญค่าบำรุงรักษาที่ทางเกรท วอลล์ ให้ไว้ภายใน 5 ปี มีค่าใช้จ่ายการในดูแลแค่ประมาณ 8,000 บาท

 

สำหรับ 5 ข้อต้องรู้ที่ Techmoveon นำมาบอกกล่าวกันนี้ ก็เพิ่มเติมจากการทดลองขับในครั้งที่แล้ว แต่คราวนี้มาในรูปแบบการใช้งานจริง เพื่อให้ทุกคนที่อยากใช้งานได้เรียนรู้กับการอยู่กับรถไฟฟ้าได้อย่างมีความสุข ไม่ได้ใช้งานยาก แต่ก็ไม่ได้ใช้งานง่ายเท่าไรนักถ้าไม่เรียนรู้มาก่อน ยังไง ณ เวลานี้ รถยนต์ไฟฟ้าก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะปฏิเสธไม่ได้อีกแล้ว เป็นอนาคตของโลกยานยนต์ ไม่ใช้งานวันนี้ วันหน้าก็ต้องได้ใช้งานแน่ ๆ

 

ORA Good Cat ยังคงเป็นตัวเลือกต้น ๆ สำหรับคนที่อยากใช้รถไฟฟ้าแบบได้อุปกรณ์ต่าง ๆ ครบครัน และมีพิสัยการเดินทาง เทคโนโลยีพร้อมแล้ว ถ้าบ้านคุณพร้อม และใจคุณพร้อมที่จะใช้งานรถไฟฟ้าอย่างเต็มที่ ก็จัดได้เลยไม่ต้องรอ

 

Scroll to Top