ทดสอบ “นิสสันคิกส์” ขึ้น 4,000 โค้งแม่ฮ่องสอน “รอด” หรือจอดดีกว่า

Spread the love

 

มันเป็นความตั้งใจอย่างหนึ่งว่า อยากขับนิสสันคิกส์ตั้งแต่เจอเนเรชันแรกขึ้นปายแล้วต่อไปแม่ฮ่องสอน อยากรู้ว่าการขับรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เวลาขึ้นโค้งเยอะ ๆ ชัน ๆ แล้วเป็นอย่างไร เพราะการจะเอารถไฟฟ้าที่ต้องเสียบปลั๊กชาร์จไฟขึ้นไปมันก็ใช่เรื่อง เพราะยังไม่มีที่ชาร์จไว้รอคอยเป็นแน่

 

ดังนั้นนิสสันคิกส์ ซึ่งเป็นที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% แต่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นตั่วปั่นไฟจึงน่าจะเหมาะสมที่สุด จึงได้หยิบยืม นิสสันคิกส์ เจอเนอเรชันที่ 2 จาก นิสสัน ประเทศไทย มาให้ลองใช้ดู จะได้รู้กันไปเลยว่าการขับขึ้นโค้งครั้งนี้จะร่วงหรือรอด แล้วอาการต่าง ๆ ของรถเป็นอย่างไร

 

 

ก่อนหน้านี้ Techmoveon เคยได้ลองขับนิสสันคิกส์เจอเนอเรชั่นที่ 1 ไปแล้ว ก็ประทับใจแบบมาก ๆ กับอัตราเร่ง และความรวดเร็วแบบไม่ต้องรอรอบ แต่ครั้งนั้นเป็นแค่การขับทางเรียบ แต่สำหรับเจนเนอเรชั่นที่ 2 นี้ ได้รับการพัฒนาให้มากขึ้น

 

โดยระบบขับเคลื่อนอี-พาวเวอร์ เจเนอเรชั่น 2 นี้ได้รวมเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) กับมอเตอร์ไฟฟ้า (Electric Motor) ไว้เป็นยูนิตเดียวกัน ทำให้มีน้ำหนักเบาลงถึง 30%

 

และที่สำคัญคือยังได้เพิ่มขนาดแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนเป็น 2.06 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ทำให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น 30% เมื่อเทียบกับรุ่นแรก แถมยังให้พละกำลังสูงสุด 136 แรงม้า (PS) และแรงบิดสูงสุด 280 นิวตันเมตร (Nm) เพิ่มจากเดิมอีกด้วย

 

สรุปได้สั้น ๆ ว่ารถจะแรงขึ้น เร่งแซงดีขึ้น แต่จะประหยัดน้ำมันมากขึ้นกว่ารุ่นก่อน

 

 

ความจี๊ดจ๊าดแบบไม่ต้องรอรอบตามแบบฉบับรถยนต์ไฟฟ้าก็ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ตั้งแต่การออกตัว การเร่งแซงในทุกรอบความเร็ว ทำได้แบบไม่เหนื่อย ไม่ต้องลุ้น กดเมื่อไรก็มาเมื่อนั้น การเบรคและการชะลอรถ ด้วยระบบ อี-เพดดัล สเต็ป ก็ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น

 

แต่จริง ๆ โดยส่วนตัวจะชอบ วัน-เพดดัล ในรุ่นก่อนมากกว่า เพราะเมื่อปล่อยให้ชะลอแล้วจะหยุดสนิทเลย แต่ อี-เพดดัล สเต็ป ของคันนี้จะยังไหลต่อไปได้อีก ซึ่งก็เป็นความเคยชินของคนปกติทั่วไป เพราะก่อนจะพัฒนาจาก วัน-เพดดัลมาเป็น อี-เพดดัล นั้นทางนิสสันเขาก็วิจัยและถามไถ่ผู้บริโภคมา แล้วก็พบว่าคนที่ใช้งานทั่วไปจะถนัดกับ อี-เพดดัล สเต็ป มากกว่า

 

การเดินทางบนถนนทั่วไปทำได้แบบคล่องตัว กระชับ และฉับไว ช่วงล่างตอบสนองได้ดีในทุกย่านความเร็ว การเข้าโค้งไว้ใจได้ ทั้งโค้งกว้างโค้งแคบ พวงมาลัยน้ำหนักกำลังดีใช้งานได้แบบไม่มีปัญหาไม่หนักไม่เบา แต่อาจจะต้องขยับตัวบ่อยหน่อยกับเบาะที่นั่ง เพราะแม้ว่าจะโอบกระชับพอดีแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยซัพพอร์ตกับการเดินทางไกล ๆ สักเท่าไร อาจจะเมื่อยบ้างถ้าจะขับติดกันหลายชั่วโมง

 

การเดินทางจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ ต้องบอกเลยว่าเหนื่อยน้อยมากเมื่อเทียบกับการขับรถที่ใช้น้ำมัน เนื่องจากพละกำลังของมอเตอร์ทำงานได้อย่างดี ไม่ต้องเค้นสมรรถนะ ไม่ต้องลุ้นเวลาเร่งแซง กดคันเร่งเบา ๆ รถก็ทะยานไปข้างหน้าแล้ว ประหนึ่งการขับรถเครื่องยนต์สมรรถนะสูง ลดภาระสั่งการของสมองในการกะระยะการเร่งแซงไปได้มาก

 

แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูดีๆ ว่าถนนที่ขับนั้นกำหนดความเร็วเท่าไร เพราะเราอาจจะเผลอเรอขับทะลุป้ายจำกัดความเร็วไปได้บ่อยครั้ง

 

 

ความราบเรียบของพื้นถนนเมืองไทยตั้งแต่กรุงเทพเชียงใหม่ ก็ไม่ได้จะเรียบสนิทในทุกเส้นทาง มีรอยต่อถนนบ้าง หลุมบ้าง แต่ช่วงล่างของนิสสันคิกส์ก็สามารถดูดซับแรงสะเทือนได้ดี ไม่ได้นิ่มสบายแต่ย้วยไปมา แต่ก็ไม่ได้แข็งกระด้างจนนั่งไม่สบาย อยู่ประมาณกลาง ๆ พอดี ๆ

 

การขับในตัวเมืองเชียงใหม่ที่การจราจรคับคั่งไม่ต่างจากกรุงเทพ ก็ไม่ได้สร้างความเครียดหรือหงุดหงิด เพราะด้วยการใช้ อี-เพดดัล สเต็ป เราก็จะใช้แป้นคันเร่งเพียงแป้นเดียว โดยเมื่อยกเท้าขึ้นจากคันเร่ง รถสามารถชะลอความเร็วลงอย่างนุ่มนวล และคงปล่อยไหลไปได้อย่างต่อเนื่องในย่านความเร็วต่ำ เพิ่มความสะดวกแม้จะมีการจราจรหนาแน่น

 

เช่นเดียวกับการขับจากเชียงใหม่ไปปาย มีเส้นทางที่คดโค้งค่อนข้างมาก การใช้อี-เพดดัล สเต็ป ก็ช่วยได้มาก เพราะในการเดินทางแบบนี้ ต้องมีการชะลอความเร็วอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพะวงกับการกดคันเร่งและสลับมาเบรคเหมือนรถยนต์ทั่วไป ขับขึ้นเขาลงเขา เข้าโค้งได้แบบเนียน ๆ สบาย ๆ ด้วยการใช้เท้าข้างเดียว

 

พละกำลังในทางเรียบที่มีมาให้อย่างมากมายนั้น เมื่อขับขึ้นเขาก็ยังตอบสนองดีเช่นกัน แต่สำหรับการใช้งานขึ้นเขาแบบโค้งสูงชันต่อเนื่อง ควรจะกดโหมดสปอร์ตไว้จะเป็นดีที่สุด เพราะกำลังจะมาเร็วตอบสนองได้ดีกว่าโหมดอื่น แถมการหน่วงของรถจะมีมากกว่า ทำให้การรีเจนไฟกลับเข้าแบตเตอรี่เต็มเร็วด้วย ช่วยประหยัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไปได้มากทีเดียว

 

 

แน่นอนว่ารถทุกคันย่อมมีข้อจำกัด การกดคันเร่งขึ้นเขาแบบเอามันเอาแรงต่อเนื่อง ก็จะทำให้พลังงานในแบตลดลงเร็ว ซึ่งถ้าเป็นโค้งชันยาว ๆ ก็อาจจะทำให้ตัวรถไม่พุ่งแรงแบบในช่วงต้น ๆ ดังนั้นการขับแบบเลี้ยงแบตเอาไว้ ใช้ในยามที่จำเป็นจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่าในช่วงเวลาที่เราต้องขึ้นเขาและไต่ความชันหลายร้อยโค้ง

 

นอกจากนี้การกดกันหนัก ๆ ก็อาจจะทำให้มอเตอร์ร้อน และส่งเสียงหวีดร้อง ประมาณจะบอกเราว่า “ฉันไม่ไหวแล้ว เบาหน่อย” อันนี้ก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องคำนึง ไม่ใช่ตะบี้ตะบันขับกันแบบไม่เกรงใจใคร เพราะการสึกหรอมันก็จะตามมาเร็วกว่าคนอื่น

 

ทั้งนี้เรื่องมอเตอร์ร้อนจนร้องไม่ใช่ปัญหาสำหรับทุกคน จะเป็นกับเฉพาะคนที่ชอบขับแบบเค้นพละกำลังแบบยาว ๆ และต่อเนื่องเท่านั้น แต่เมื่อผ่อนและกลับมาใช้ความเร็วปกติ ทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ถ้าขับแบบปกติ เร่งแซงบ้าง เร็วบ้าง แม้จะขับไกลแค่ไหนก็ไม่มีอาการแบบนี้

 

สิ่งที่ชอบมาก ๆ สำหรับการขึ้นเขาลงเขา และการขับรถลัดเลาะไปตามโค้งของ นิสสันคิกส์คันนี้คือ “ช่วงล่าง” ต้องบอกเลยว่าด้วยรูปทรงของรถที่ดูกระชับแบบวัยรุ่น ไม่เป็นทรงแวนยกสูง ทำให้การขับขี่มาพร้อมกับความกระชับตามไปด้วย ไม่ย้วย เพราะท้ายไม่ยาวจนดูเหมือนเป็นส่วนเกิน เลาะเล่นโค้งและช่วงแคบ ๆ ได้แบบมั่นใจ

 

ประกอบกับช่วงล่างที่เซ็ตมาเป็นอย่างดี ทำให้การเข้าโค้งขึ้นเขาครั้งนี้สนุกมาก ช่วงล่างหนึบ แน่น สร้างความมั่นใจได้มาก

 

“มีช่วงหนึ่ง ลงเขามาด้วยความเร็วประมาณหนึ่งในช่วงเวลาพลบค่ำ แล้วเจอโค้งแบบกระทันหันไม่ทันตั้งตัว เพราะค่อนข้างมืด แต่การควบคุมรถก็ยังทำได้ดีเช่นกัน เบรคดีตามแบบฉบับรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะใช้การหน่วงของมอเตอร์และแบตเตอรี่เข้ามาร่วมด้วย พวงมาลัยตอบสนองได้ดี ทุกอย่างของรถประสานกันทีทำให้เราผ่านจุดนั้นมาได้อย่างปลอดภัย”

 

ในตอนที่เกิดความคับขันนี่เองทำให้เรารู้ว่าช่วงล่างรถที่ดี จะช่วยเราได้มาก ทั้งในแง่ของการควบคุม และอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ประทับใจใน นิสสันคิกส์มาก

 

 

สำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้ปั่นไฟก็เป็นเครื่อง DOHC แบบ 3 สูบ 12 วาล์ว ความจุ 1.2 ลิตร ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนโรงไฟฟ้าส่วนตัวที่สร้างและจ่ายกระแสไฟให้กับเจเนอเรเตอร์ และอินเวอร์เตอร์เพื่อชาร์จเข้าสู่แบตเตอรี่ขับเคลื่อน ซึ่งนอกจากจะให้พละกำลังมากขึ้นแล้ว ยังให้การประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นอีกด้วย

 

โดยนิสสันเคลมว่ามีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 26.3 กิโลเมตรต่อลิตร สำหรับการขับขี่ในเมือง และ 23.8 กิโลเมตรต่อลิตร ในการขับขี่โดยเฉลี่ย และแน่นอนว่าในทริปนี้ไม่ได้เน้นขับประหยัดน้ำมัน แต่เน้นขับมันส์อย่างเดียว แต่ก็เรียกได้ว่าเมื่อเทียบกับการทำความเร็วและการขับขี่แล้ว นิสสันคิกส์ ประหยัดมาก ประหยัดแบบไม่ต้องขับแช่ 60 หรือ 90 แล้วเอาตัวเลขมาอวดเลย

 

สำหรับรูปทรงภายนอกก็แล้วแต่ใครจะชอบ แต่โดยส่วนตัวแล้ว “ชอบ” เพราะมันออกแนวซิ่งดี ซึ่งในตัวที่ได้ยืมมาทดลองขับนี้ก็เป็นรุ่น AUTECH ที่จำหน่ายในราคา 949,000 บาท โดยจะเสริมอุปกรณ์ตกแต่งพิเศษไม่ว่าจะเป็น ล้ออัลลอย ขนาด 17 นิ้ว 6.5J x 17″ สีดำเงาลายใหม่ โลโก้ AUTECH ที่กระจังหน้า

 

สเกิร์ตหน้า ข้างซ้าย – ข้างขวา และหลัง สีเงินเมทัลลิค สปอยเลอร์หลังดีไซน์ใหม่ วัสดุตกแต่งไฟตัดหมอกคู่หน้า กระจกมองข้างสีเงินเมทัลลิค ภายในโทนสีดำตกแต่งด้วยสีน้ำเงิน แดชบอร์ด และแผงประตู เดินตะเข็บด้วยด้ายสีน้ำเงิน พวงมาลัยตกแต่งด้วยสีน้ำเงิน วัสดุตกแต่งแผงประตู หุ้มด้วยหนังสังเคราะห์ สีน้ำเงิน

 

 

เนื้อที่ภายในห้องโดยสารต้องบอกเลยว่าสบายทุกที่นั่ง เบาะด้านหลังก็สามารถนั่งกันได้ 4 คนสบาย ๆ 5 คนก็จะเบียดนิดหน่อย แต่พื้นที่ก็โปร่งและโล่งไม่อึดอัด บรรยากาศโดยรวมคือพอดี ๆ กับรูปร่างของรถ ประกอบกับโดยส่วนตัวชอบสีน้ำเงินอยู่แล้ว การตกแต่งด้วยสีนำเงินในบริเวณต่าง ๆ ทำให้หลงเข้าไปอีก แถมด้วยไฟ Ambient light ที่สร้างสีสันให้กับห้องโดยสารได้อีกหลายเฉดสี บิ้วบรรยากาศในรถให้ดีขึ้นไปอีก 

 

ด้านความบันเทิงก็จะมาพร้อมกับเครื่องเสียง ระบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว ลำโพง 6 ตำแหน่งรองรับการเชื่อมต่อ AUX USB รองรับการเชื่อมต่อไร้สาย Bluetooth รองรับการเชื่อมต่อ Nissan CONNECT รองรับระบบ Apple CarPlay รองรับระบบ Android Auto รองรับระบบสั่งงานด้วยเสียงอัจฉริยะ ให้มาแบบนี้ใครที่ชอบเทคโนโลยีก็ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

สิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนยุคใหม่อย่างช่องเสียบ ยูเอสบีก็มีมาให้หลายช่อง ด้านหลัง 2 ช่องแบบไม่ต้องแย่งกัน แถมเอาใจคนชอบดื่มน้ำด้วยที่วางแก้วที่สามารถปรับเปลี่ยนได้หลายแบบรองรับแก้วหลายขนาด ตั้งแต่แก้วกาแฟร้อน ไปจึงถึงแก้วมัคไซส์ใหญ่ เช่นเดียวกับคนรักสวยรักงาม กระจกแต่งหน้าก็มีไฟพร้อมมาให้อีกด้วย

 

พื้นที่วางของด้านหลังนิสสันคิกส์ก็มีขนาดใหญ่พอตัว แถมยังสามารถพับเบาะเพื่อเพิ่มตามจำนวนสัมภาระได้อีกด้วย 

 

 

สำหรับนิสสัสคิกส์คันนี้เป็นรุ่น AUTECH นี้ก็มีระบบความปลอดภัย ความบันเทิง และความไฮเทคต่าง ๆ มาให้แบบจัดเต็ม แต่ถ้าใครคิดว่าไม่ได้อยากได้มากมายก็ลองพิจารณา รุ่น E ที่ราคา 759,000 บาท ซึ่งราคาก็ต่างกันเกือบ 2 แสนบาท แม้จะมีอุปกรณ์ไฮเทคไม่เท่า ภายในมีลูกเล่นน้อยกว่า

 

แต่ก็ให้อุปกรณ์ที่เกินจำเป็นมามากมาย อย่างเช่น ระบบเบรกมือไฟฟ้า EPB ระบบ Auto Brake Hold ระบบกุญแจ Immobilizer ระบบช่วยควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว VDC ระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน HSA ระบบเตือนการชนด้านหน้า Forward Collision Warning IFCW ระบบเบรกอัตโนมัติ Intelligent Emergency Braking IEB

 

ระบบเตือนความเหนื่อยล้าขณะขับขี่ Driver Attention Assist เทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง Trace Control โดยที่พูดถึงนี่แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็เรียกได้ว่าเพียงพอแล้วทำหรับรถยุคนี้ แต่ยังมีอีกมากมายหลายรายการ และเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วในราคานี้ต้องจ่ายหลักล้านขึ้นไปนั่นล่ะ ถึงจะได้เท่ากับ นิสสันคิกส์ตัวล่างสุด

 

สรุปโดยภาพรวม นิสสันคิกส์ อี-พาวเวอร์ เป็นเอสยูวีขนาดบีเอสยูวี ที่มีคู่แข่งอย่าง Honda HR-V, Mazda CX-30 ,MG ZS, Nissan Kicks และ Toyota Corolla Cross ที่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ด้วยรูปทรงที่โฉบเฉี่ยวไม่เป็นทรงกล่องเดิม ๆ เหมือนคู่แข่ง

 

มีจุดเด่นอยู่ที่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ให้อารมณ์เดียวกับรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อน การออกตัว อัตราการเร่งแซงต่าง ๆ เพียงแต่ที่มาของไฟฟ้านั้นได้มาจากเครื่องยนต์เป็นตัวปั่นไฟ จึงเหมาะสำหรับคนที่อยากขับรถไฟฟ้าแต่ไม่อยากจะรอการชาร์จที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพราะสามารถเติมน้ำมันได้เหมือนรถสันดาปทั่วไป

 

ภายในให้ความสะดวกสบายสมตัว ออปชั่นต่าง ๆ ให้มาไม่น้อยหน้าใคร แถมยังจะมากกว่าเมื่อนำราคามาเทียบกัน อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงขึ้นอยู่กับเท้าที่เหยียบ แต่อัตราเร่งเกินหน้าเกินตาเพื่อน ๆ ไปมาก อาจจะแพ้ MG VS HEV ในบางจังหวะ

 

ช่วงล่างให้ความพอใจได้มากทั้งทางตรงและทางโค้ง โดยเฉพาะการขับขึ้นเขาที่กระชับ และมั่นใจได้มาก สามารถสนุกสนานในทุกโค้งกับ อี-เพดดัล สเต็ป ตัวช่วยที่ทำให้รถยนต์วิ่งได้เหมือนรถในเกม แต่ต้องระวังเรื่องความร้อนของมอเตอร์ถ้าเรากดกันแบบหนัก ๆ อัดกันแบบโหดเกินไป นอกนั้นก็ชิวสบายไม่ต้องกังวล เช่นเดียวกับระบบเบรคที่เทพจนไม่ต้องพูดถึง

 

อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงทำได้ดีใกล้เคียงคู่แข่ง และจะดีเกินหน้าเกินตามากถ้าใช้ในช่วงรถติดมาก ๆ ซึ่งในกลุ่มของผู้ใช้นิสสันคิกส์เคลมว่ารถของเขาประหยัดได้ถึง 28 กิโลเมตรต่อลิตร ในเวลาที่รถติดหนัก ๆ

 

ส่วนเรื่องที่หลายคนกังวลเรื่องราคาแบตเตอรี่ก็ไม่ต้องวิตก เพราะนิสสันคิกส์ใช้แบตเตอรี่ลูกนิดเดียว แถมยังมี รับประกันแบตเตอรี่ 10 ปี รับประกันระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า e-POWER 5 ปีและรับประกันคุณภาพรถใหม่ Warranty 5 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตร

 

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลต่อปีน้อยกว่าเพื่อน ๆ คู่แข่งเป็นอย่างมาก เพราะมีชิ้นส่วนที่น้อยกว่า โดยเฉพาะระบบขับเคลื่อน ดังนั้นนิสสันคิกส์ อี-พาวเวอร์ จึงเป็นรถที่เหมาะที่สุดสำหรับอยากจะขับรถยนต์ไฟฟ้า อยากจะเร่งแบบไม่ต้องรอรอบ และฉีกหน้ากระบะบ้าพลัง หรือขับขึ้นเขาขึ้นดอยได้แบบไม่ต้องคอยใคร ไปแม่ฮ่องสอนได้แบบชิว ๆ 

 

รวมไปถึงอยากใช้เทคโนโลยีที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้กันมากอย่าง อี-พาวเวอร์ ในราคาเริ่มต้นที่ 759,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับรถรุ่นอื่นในราคาเดียวกัน คันนี้คือน่าเล่นที่สุด 

 

 

Scroll to Top