“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” แนะจับตาความเสี่ยงมาตรการกีดกัน Cleantech

Spread the love

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากการเบิกจ่ายงบฯ การส่งออก แนะจับตาความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า

 

แนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินปี 2567

 

​ทิศทางเศรษฐกิจโลกทรงตัวจากปีก่อน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวดีกว่าปีก่อนหน้า แต่มีแนวโน้มชะลอลงในไตรมาสที่เหลือของปี 2567 ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้า ส่งผลให้เฟดและอีซีบีอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อยกว่าที่คาดการณ์

 

เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์เดิม จากมาตรการดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่จีนยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการใช้จ่ายในประเทศและสงครามการค้ารอบใหม่

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยมาอยู่ที่ 2.6% ชะลอลงจาก 2.8% ที่คาดไว้เดิม ตามการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับการส่งออกไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า

 

โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่เหลือของปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสแรก ตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในปี 2566

 

นอกจากธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและบริการสุขภาพที่คาดว่าจะมีรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ธุรกิจส่วนใหญ่มีสถานการณ์ด้านรายได้ที่ไม่แน่นอน ในขณะที่ ต้นทุนมีแนวโน้มสูงขึ้น

 

สำหรับสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ สอดคล้องสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความไม่แน่นอนสูง

 

สงคราม Cleantech และ Geopolitics

 

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะให้ภาพแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าคาดการณ์ จนตลาดปรับการคาดการณ์ว่าเฟดจะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หรือ Higher for Longer นั้น

 

 

แต่ยังมีประเด็นที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ได้แก่ นโยบายภาษีของสหรัฐฯ และยุโรปที่กีดกันอุตสาหกรรม Cleantech ของจีน ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์ ซึ่งมองว่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคยุโรป อาเซียน และอเมริกาใต้

 

ขณะที่หากโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า อย่างเช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้ามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น ไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อภาคอุตสาหกรรมไทยปรับทิศทางได้ทัน

 

ทั้งนี้แนวโน้มปัญหาโลกร้อนคือตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดการลงทุน Cleantech ในจีน และด้วยมลพิษที่เพิ่มมากขึ้นจากจำนวนประชากรภายในประเทศ พร้อมแรงบวกความกังวลเรื่องการขาดแคนอาหารและพลังงาน ทำให้จีนเดินหน้าพัฒนาพลังงานสะอาด และสนใจกลุ่ม Cleantech รวมถึงในมุมมองของการลงทุนกลุ่มนี้สามารถสร้างมูลค่าและเป็นสินค้าบริการจำเป็นในอนาคต

 

เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2567

 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า คาดการณ์ว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวจากครึ่งแรกของปีที่ 1.6% เป็นอัตราขยายตัว 3.6% เนื่องจากมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในปี 2566

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลกรวมถึงไทย ซึ่งความกังวลประเด็นนี้จะมีการกักตุนสินค้า ทำให้จีนเร่งส่งออก ซึ่งไทยได้รับผลกระทบในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องมีการแข่งขันสูง รวมถึงการผลิตและส่งออกรถยนต์ที่จะต้องมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นในตลาดโลก

 

 

นขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงมีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยสรุปภาพรวมทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 2.6% ส่วนนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังอยู่ที่ดอกเบี้ย 2.5% ส่วนเงินบาทไทยยังอ่อนค่าจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจากสัญญานเฟดที่ไม่รีบลดดอกเบี้ย รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและจากแรงขายหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

 

แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทย

 

เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า มี 3 ปัจจัยหลักที่จะกระทบภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ทำการเบิกจ่ายได้จนถึงปัจจุบันที่ 33%

 

2. สินค้านำเข้าที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น จากผลของสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และเหล็ก อีกทั้งจีนมีบทบาทสำคัญในการส่งสินค้ามาไทย ทำให้จีนมองหาฐานการผลิตแหล่งใหม่ๆ และ3. ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้นเป็นต้นทุนสำคัญที่กระทบกลุ่ม SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น

 

 

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้าและสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) รวมถึงเติมสภาพคล่องให้กับ SMEs และเน้นวางแผนการจัดการน้ำ ขณะเดียวกันถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ ทำให้รายได้เติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน

Scroll to Top